2 อาจารย์คณะวิทย์ ม.มหิดล พัฒนาวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีเพื่อพัฒนาสารต้นแบบยับยั้งมะเร็ง และศึกษาคุณสมบัติจุลินทรีย์กระตุ้นการเติบโตของพืช คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

Activity Photo
10 มีนาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี สู้รักรัมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บังอรศิริ อินตรา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 29 พ.ศ. 2565 จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ที่มอบให้แก่งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 200,000 บาท โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้มอบทุนในพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยฯ ครั้งที่ 29 โดยมี ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มร. นิคคาคุ ประธานบริษัทโทเรอินดัสตรีส์ ประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการเงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิ์วัตน์ ประธานคณะกรรมการรางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ ให้เกียรติร่วมพิธี ณ ห้องสุรวงศ์บอลรูม โรงแรม แบงค็อก แมริออท เดอะ สุรวงศ์
ซึ่งในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ได้ร่วมแสดงความยินดีและมอบช่อดอกไม้กับอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี สู้รักรัมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาเคมี จากการวิจัยเรื่อง การพัฒนาวิธีการสังเคราะห์แบบอสมมาตรของสารไครัลอินทรีย์ที่มีฟลูออรีนอะตอมเป็นองค์ประกอบประเภท gem-difluorinated spirooxindole-pyrrolidines เพื่อพัฒนาเป็นสารต้นแบบที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง สาร ‘สไปโรออกซินโดล-ไพไรลิดีนส์’ เป็นอนุพันธ์ของอัลคาลอยด์ที่พบมากในธรรมชาติ ซึ่งหลายตัวมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญกับงานวิจัยด้านการค้นหาและพัฒนายา และการสังเคราะห์แบบอสมมาตรนั้นทำให้ได้สารที่จำเพาะมากขึ้น ซึ่งวิธีการสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นนอกจากจะใช้สังเคราะห์สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งและมาลาเรียได้แล้ว ยังสามารถใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างของอนุพันธ์โดยเติมหมู่ gem-difluorinated (-CF2) ลงไป ทำให้สาร ‘สไปโรออกซินโดล-ไพไรลิดีนส์’ มีคุณสมบัติทางเคมีที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ และมีโอกาสจะพัฒนาเป็นต้นแบบสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็งได้ในอนาคต
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บังอรศิริ อินตรา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากการวิจัยเรื่อง การศึกษาคุณสมบัติการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชจากเชื้อ Streptomyces spp. และผลกระทบต่อไมโครไบโอมบริเวณดินใกล้รากพืชเพื่อการเกษตรแบบยั่งยืน โดยทำการคัดแยกเชื้อ ‘สเตรปโตมัยซีท’ จากบริเวณดินใกล้รากพืชในประเทศไทย นำไปประเมินคุณสมบัติที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชในหลอดทดลอง เช่น การละลายเกลือแร่ การผลิตฮอร์โมนพืช การสร้างสารไซเดอโรฟอร์ การผลิตแอมโมเนีย และทำการศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อในการส่งเสริมการเจริญเติบโตในต้นถั่วและต้นข้าว รวมถึงประเมินความสามารถในการสร้างสารออกฤทธิ์ชีวภาพเพื่อใช้ยับยั้งเชื้อราก่อโรคไฟทอฟธอรา นอกจากนี้ เชื้อ ‘สเตรปโตมัยซีท’ ที่มีคุณสมบัติในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชสูงยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพและสารควบคุมชีวภาพเพื่อการเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนได้อีกด้วย

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 10 มีนาคม 2566