14 มิถุนายน 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร และผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่งานความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมให้การต้อนรับและหารือความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยกับผู้แทนจาก Faculty of Science, University of Auckland นำโดย Prof. JR Rowland, Deputy Dean Mr. Gael Gendron, Doctoral Candidate และ Ms. Jennifer Roshan, International Manager ในโอกาสเยือนประเทศไทย ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ กล่าวต้อนรับในนามผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล และพร้อมสนับสนุนให้คณะวิทยาศาสตร์สถาปนาความร่วมมือทางด้านการศึกษา การวิจัย และการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับ University of Auckland ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีนักศึกษานานาชาติให้ความสนใจเข้าศึกษา ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ โดย ดร.ระพี บุญเปลื้อง และรองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ ได้นำเสนอข้อมูลคณะวิทยาศาสตร์ที่เป็นจุดแข็งหลายอย่าง อาทิ ความพร้อมในด้านบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ความทันสมัยของห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ และที่สำคัญคณะวิทยาศาสตร์มีหลักสูตรการศึกษาและการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทางวิชาการจำนวนมาก ครอบคลุมทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Science) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) รวมไปถึงวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Life Science) และวิทยาศาสตร์พหุวิทยาการ (Multidisciplinary Science) และความโดดเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ที่เป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรอื่นทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความร่วมมือกับภาคเอกชนในลักษณะโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะผู้แทนจาก Faculty of Science, University of Auckland ได้ให้ความสนใจในการที่จะสร้างความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ในหลายประเด็น โดยได้นำเสนอข้อมูลทางด้านการศึกษา การวิจัย ทั้งของทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมให้ข้อมูลว่า University of Auckland ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นนานาชาติซึ่งเป็นนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยในระยะ 5-10 ปีต่อจากนี้ โดยมีความต้องการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในด้านการวิจัย การศึกษา และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในหลายสาขาวิชา
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนทั้งสองสถาบันได้แลกเปลี่ยนข้อมูลหลากหลาย เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือโดยเล็งเห็นจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายอันจะนำไปสู่การริเริ่มความร่วมมือที่เป็นไปได้จริงภายในเวลาอันสั้น และนโยบายด้านประเด็นวิจัยสาขาต่าง ๆ ที่น่าสนใจในอนาคต อาทิ ความร่วมมือด้านการวิจัยและการศึกษาทางด้านทรัพยากรชีวภาพ (Bioresources) ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Product) วิทยาศาสตร์อุตสาหการ (Industrial Science) วัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน (Materials Science and Nanoengineering) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เทคโนโลยีด้านอาหารในอนาคต (Future Food Technology) และการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (Student Mobility)
นอกจากนี้ ทั้งสองสถาบันยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดโครงการการศึกษาภาคฤดูร้อน โครงการวิจัยร่วม (Joint Research Projects) โครงการฝึกทักษะประสบการณ์สำหรับนักศึกษา โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนหารือขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมทางวิชาการ การแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาและห้องปฏิบัติการ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านการศึกษาในอนาคตในคณะต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน และมีเป้าหมายที่สอดคล้องกันคือการจัดการศึกษาที่เป็นสากลเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั่วโลก ผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้มอบของที่ระลึกและถ่ายภาพร่วมกัน ณ ห้องประชุม 530A-B สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ตรวจสอบโดย : นายเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ
เขียนข่าวโดย: นายธีรเทพ แก้วมณี
ภาพข่าวโดย: งานสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี
เว็บมาสเตอร์: นายธีรเทพ แก้วมณี
วันที่ 14 มิถุนายน 2567