28 มิถุนายน 2566 ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล รับฟังผลการดำเนินงานของคณะวิทยาศาสตร์ (University Council Visit : 3) โดยมีทีมผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี พร้อมด้วยหัวหน้าภาควิชา กลุ่มสาขาวิชา ศูนย์วิจัย กรรมการประจำคณะฯ ประเภทคณาจารย์ประจำ หัวหน้าหน่วยงาน และบุคลากรภายในคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
ในการเยี่ยมชมส่วนงานครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี ได้นำเสนอทิศทางและผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งมีพันธกิจในการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ คู่คุณธรรม และผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสากลก่อประโยชน์ต่อสังคม ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับวารสารวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติกว่า 520 เรื่อง มีการสื่อสารองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สู่สังคมในรูปแบบสื่อที่ทันสมัยผ่านช่องทางต่าง ๆ และยกระดับการจัดการเรียนการสอนผ่านนโยบาย One Mahidol Science Education ซึ่งมีการเปิดพื้นที่ส่งเสริมความเป็นเลิศด้านการศึกษาภายใต้ชื่อ Mahidol University Science Education Space หรือ MUSES ที่มีห้องคอมพิวเตอร์บริการ ห้องสำหรับการสร้างบทเรียนออนไลน์ ห้องสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และห้องสำหรับจัดการอบรม สัมมนา บริการวิชาการถ่ายทอดความรู้หรือจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการที่เปิดให้อาจารย์และนักศึกษาได้ทดลองสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการศึกษา รวมถึงปรับปรุงอาคารบรรยายรวมในพื้นที่ศาลายาและพญาไทให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับความหลากหลายของนักศึกษามากขึ้น เช่น ห้องน้ำ All gender สำหรับนักศึกษาผู้มีความหลากหลายทางเพศ ลิฟต์บันไดสำหรับผู้พิการ เป็นต้น ปรับปรุงและดูแลพื้นที่สีเขียวภายในคณะให้สวยงามและปลอดภัยโดยรุกขกรปฏิบัติการ และมีการทดลองเปิดให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าทดสอบการสอบวัดระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ AP Test ซึ่งจะสามารถนำมาเทียบหน่วยกิตของคณะวิทยาศาสตร์ได้ในอนาคต
นอกจากนั้น ยังคงสานต่อความร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และพันธมิตร ขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารระดับประเทศ และส่งเสริมการเรียนรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเปิดให้นักศึกษาเยี่ยมชมโครงการ รวมถึงร่วมมือกับบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการต่อยอดงานวิจัยด้านความยั่งยืนสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งขยายความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังดำเนินการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัล ส่งเสริมทักษะให้บุคลากรให้มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาเป็นเครืองมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีการจัดอบรมกว่า 63 คอร์ส รวม 1,438 คน รวมถึงส่งเสริมให้อาจารย์มีความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรสายสนับสนุนในการร่วมขับเคลื่อนองค์กรผ่านกระบวนการ Design Thinking เพื่อสร้าง Global talent ในพัฒนาองค์กรสู่คณะวิทยาศาสตร์แนวหน้าในระดับสากล
พร้อมกันนี้ยังมีการจัดแสดงโครงการและงานวิจัยต่าง ๆ ที่โดดเด่นในด้านความยั่งยืน อาทิ เส้นทางของผำ กว่าจะเป็นอาหารแห่งอนาคต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Advanced GreenFarm และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ เทคโนโลยีควบคุมแมลงแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินดา ธนะภูมิ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาและฝึกอบรบเทคโนโลยีชีวภาพของแมลงระดับภูมิภาค (RCIB) และ Space Golden Shower Tree หรือราชพฤกษ์อวกาศ โดย อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ ซึ่งในโอกาสพิเศษนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี และ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ได้มอบต้นราชพฤกษ์อวกาศจำนวน 1 ต้น ให้แก่ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเป็นที่ระลึกในการเยี่ยมชมส่วนงาน
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาววันวิสา เจริญยศ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 28 มิถุนายน 2566
จำนวนคนดู: 72