คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรม Meet The Team One Mahidol Science Education อัปเดตนโยบาย การดำเนินงาน และทิศทางของคณะวิทยาศาสตร์ด้านการศึกษากับประชาคม

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจัด จัดกิจกรรม Meet The Team One Mahidol Science Education แบบ Hybrid โดยมีคณะผู้บริหาร นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนานักศึกษา ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี มาพูดคุยอัปเดตนโยบาย การดำเนินงาน และทิศทางของคณะวิทยาศาสตร์ด้านการศึกษา พร้อมตอบข้อสงสัย และรับฟังความคิดเห็นของประชาคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 200 คน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพลคงเสรี รองศาสตราจารย์ ได้กล่าวเปิดกิจกกรม จากนั้น ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา ได้เล่าถึงกิจกรรมด้านการศึกษาซึ่งกว่า 3 ปีที่ผ่านมาที่คณะฯ ต้องเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 แล้วจึงเล่าถึงสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดใช้พื้นที่โดยมีการปรับกายภาพและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนการสอนที่ดีขึ้น อาทิ ปรับปรุงห้อง ณ อาคาร SC1, L1, L2 พร้อมติดตั้งระบบเพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบ hybrid และการบันทึกวิดีโอการสอนภายในห้องเรียนในอาคาร SC-1, SC2, SC3 และ SC4 ที่คณะวิทยาศาสตร์ ศาลายา การปรับปรุงอาคารเรียนรวม (ตึกกลม) อาคารคอมพิวเตอร์ รวมถึงติดตั้งจอ LED TV ในห้องปฏิบัติการ MDL ปรับปรุงระบบ Internet ทั้ง LAN และ Wi-Fi โดยรอบพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท และอัปเดตถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2565 – 2566 ที่มาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ว่า ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 นี้ วิทยาศาสตร์จะเปิดการเรียนการสอนแบบ On-site 100% และเปลี่ยนเป็นแบบ Online เมื่อจำเป็น รวมถึงมีนโยบายการประเมินผลการศึกษาที่ยุติธรรมกับนักศึกษาที่เรียนออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
นอกจากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ หยกทองวัฒนา ยังเผยถึงความท้าทายในอนาคตที่คณะฯ จะต้องเผชิญในอนาคต พร้อมยกตัวอย่างแนวทางที่คณะวิทยาศาสตร์วางแผนรับมือ เช่น ปรับหลักสูตรให้มีความยืดหยุ่นสามารถเลือกเรียนตามความสนใจได้มากขึ้นเพื่อให้ดึงดูดผู้เรียนในระดับปริญญาตรี เพิ่มหลักสูตร 5 ปี 2 ปริญญา เรียนปริญญาตรีต่อเนื่องไปจนจบปริญญาโท เพื่อชะลอการลดลงของจำนวนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในอนาคต พัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนรวมถึงการวิจัยด้านพรีคลินิกดึงดูดความร่วมมือกับโรงเรียนผลิตแพทย์ จัดกิจกรรมสร้างความผูกพันธ์ระหว่างนักศึกษาหลักสูตรต่าง ๆ ที่คณะฯ ดูแลเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีในรั้วคณะวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงออกแบบผลิตภัณฑ์การศึกษารูปแบบใหม่ที่สร้างเรียนรู้ สร้างคุณค่าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนกลุ่ม Pre-college กลุ่มคนทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต เป็นต้น

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 30 มิถุนายน 2565