คณะวิทย์ ม.มหิดล มอบรางวัล Mahidol Science Innovative Educator 2023 เชิดชูเกียรติคนทำงานวงการศึกษา พัฒนานวัตกรรมการสอนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ในงานรำลึกครบรอบ 104 ปี ชาตกาลศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข

Activity Photo
14 กรกฎาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีรำลึกครบรอบ 104 ปี ชาตกาลศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เพื่อน้อมรำลึกถึงศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้ก่อตั้งและคณบดีท่านแรกของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมอบรางวัล Mahidol Science Innovative Educator 2023 เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติคนทำงานในวงการศึกษาที่สร้างประโยชน์แก่สังคมด้านนวัตกรรมการศึกษาด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ เลิศวิริยะนันทกุล และ Musuko Team พร้อมแสดงความยินดีกับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น
ในช่วงเช้าผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี พร้อมด้วยทายาทศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ผู้เกษียณอายุงาน ผู้บริหารสมาคมศิษย์เก่า สภาอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ร่วมพิธีวางพวงมาลัยสักการะรูปหล่อ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ณ บริเวณอนุสรณ์สถาน ลานอาคารบรรยายรวม (ตึกกลม)

ต่อด้วยพิธีทำบุญทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลแด่ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข และบุรพชนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับเกียรติจากครอบครัวของศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ร่วมถวายเครื่องไทยธรรม ถวายภัตตาหารเพล แก่พระสงฆ์จำนวน 10 รูป จากวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

จากนั้นจึงเป็นการมอบรางวัล Mahidol Science Innovative Educator 2023 ซึ่งในปีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี เป็นผู้แทนคณะกรรมการคัดเลือก มอบโล่รางวัลแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลประเภทบุคคล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ เลิศวิริยะนันทกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาว่า หากเรามองนกและไม่คิดเป็นเพียงแค่นก มองเครื่องบินไม่คิดเป็นแค่เครื่องบิน ทุกสิ่งรอบตัวเราล้วนสามารถเป็นแรงบันดาลใจใน การสร้างนวัตกรรมเพื่อการศึกษาได้ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะแค่คิดหรือลงมือทำ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ ได้ทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนรายวิชาที่รับผิดชอบคือวิชาอิเล็กทรอนิกส์ให้แตกต่างไปจากเดิมและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการสอดแทรกการออกแบบทางศิลปะเข้าไปให้นักศึกษาได้ฝึกการออกแบบลวดลาย แล้วพัฒนารูปแบบการสอนของตัวเองโดยใช้หลักการจัดการเรียนการสอนแบบ STEM กลายเป็นรูปแบบการสอนที่เรียกว่า Steam through Workpiece Based Learning : การเรียนรู้แบบ STEAM ผ่านการทำชิ้นงานเป็นฐาน หรือ STEAM -> WpBL และต่อยอดวงจรที่ใช้ในการสอนนักศึกษาในชั้นเรียนมาสร้างเป็นนวัตกรรมบอร์ดแสดงกลุ่มดาวจําลองแบบโต้ตอบได้โดยไร้การสัมผัส พร้อมยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร เพื่อแสดงให้นักศึกษาเห็นถึงการนําวงจรที่ได้เรียนไปใช้ประโยชน์ได้จริง นอกจากนั้นยังสร้างบอร์ดแสดงกลุ่มดาวหลายกลุ่มดาว และนํามาติดตั้งเป็นห้องแสดงจักรวาลจําลองเพื่อการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งสามารถให้ผู้ชมเข้าชมและมีปฏิสัมพันธ์กับระบบได้ เป็นการใช้ความรู้ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรมมิ่ง ไมโครคอนโทรลเลอร์ มาประยุกต์ใช้กับดาราศาสตร์ และศิลปะ สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ได้อย่างน่าทึ่ง
ส่วนรางวัลประเภททีมมอบให้กับ Musuko Team ภายใต้สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทีมถึงเผยว่าแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มาจาก ความตั้งใจอยากพัฒนาการเรียนรู้ Coding กับวิทยาศาสตร์ที่ให้โรงเรียนสามารถเข้าถึงได้ เพราะในปัจจุบันในแต่ละคอร์สที่จัดอบรมส่วนใหญ่มีราคาที่สูง ประกอบกับอยากสร้างให้เกิดการเรียนรู้ Coding กับวิทยาศาสตร์ที่เป็นการลงมือทำอย่างแท้จริง โดยไม่ใช่เพียงแค่การเขียน Code เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
Musuko Team ได้จัดกิจกรรม STEM AND ROBOTICS CAMP ที่เป็น Camp สำหรับสอน Coding ร่วมกับการเรียนรู้รูปแบบ STEM โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ผ่าน play and learn ที่ออกแบบขึ้นมาเอง โดยเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความท้าทายและการทำงานเป็นทีม, การแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงการออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยให้เด็ก ๆ ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่ง Camp นี้จัดขึ้นทั้งในระบบโรงเรียน ไปจนถึงนอกระบบโรงเรียน (Home school) และยังจัดอบรมให้กับโรงเรียนหญิงล้วน เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เท่าเทียมกันในหลาย ๆ พื้นที่ และส่งเสริมให้มีนักสร้างสรรค์เพศหญิงให้มีจำนวนมากขึ้นในประเทศไทยในการสร้างนวัตกรรมพัฒนาประเทศชาติต่อไป โดยที่ผ่านมาได้มีการอบรมให้กับนักเรียนไปแล้วมากกว่า 1,800 คน และคุณครูอีกประมาณ 400 คน ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์
นอกจากนั้น Musuko ยังพยายามหาทุนงบประมาณเพื่อนำมาใช้ในการจัดอบรมคุณครูเพื่อส่งต่อความรู้ Coding ให้กับน้อง ๆ นักเรียน เพื่อสร้างความยั่งยืน และได้มีการสร้างเพจ Facebook เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์งาน กิจกรรม ความรู้ต่าง ๆ ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และให้คำปรึกษาในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ผ่านเพจ STEM AND ROBOTICS CAMP อีกด้วย

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดให้มีการมอบรางวัล Mahidol Science Innovative Educator มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถชมผลงานของผู้ได้รับรางวัลแต่ละปีได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/th/SciMU-Edu.php

และนอกจากจะมอบรางวัลเชิดชูเกียรติคนทำงานในวงการศึกษาแล้ว คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรเช่นกัน โดยในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา บุคลากรทางวิชาการและสายสนับสนุนของคณะวิทยาศาสตร์ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้นกว่า 58 คน ซึ่งในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี ได้กล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีกับ พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น และบุคลากรที่ได้รับรางวัลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่น ของคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2565 โดยมีบุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุนรวมกว่า 22 คน เข้าร่วมพิธีในช่วงบ่าย

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย :
ภาพข่าวโดย :
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 14 กรกฎาคม 2566