คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาสาธารณะ “จริยธรรมการวิจัยกับปัญหาการซื้อขายผลงาน” แสดงความคิดเห็นในประเด็นการซื้อขายผลงานวิจัยในวงการ

Activity photo

20 มกราคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาสาธารณะ “จริยธรรมการวิจัยกับปัญหาการซื้อขายผลงาน” แสดงความคิดเห็นในประเด็นการซื้อขายผลงานวิจัยในวงการวิชาการ ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท พร้อมถ่ายทอดผ่านระบบประชุม online WebEx Meeting

การเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ อาจารย์อาวุโสคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาคมชาวมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมฟังการเสวนากว่า 300 คน
ในตอนต้นของการเสวนา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ได้เล่าถึงความเชื่อมโยงกันของการวิจัย การตีพิมพ์ผลงาน และจริยธรรมการวิจัย (research & publication and ethics issues) โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาว่า การสอน และการวิจัยเปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน ในด้านหนึ่งการวิจัยทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์กับการสอน และทำให้ผู้สอนทันสมัย ขณะที่การสอนซึ่งเป็นการเผยแพร่ความรู้ ก็ช่วยให้เรามองสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดขึ้นและเกิดคำถามซึ่งนำไปสู่การวิจัยได้ นอกจากนั้นการทำวิจัยช่วยให้เราได้ประเมินคุณภาพข้อมูล คิดเป็นระบบ คิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถมองเห็นจุดอ่อนที่นำไปวิจัยต่อยอดเพิ่มเติม และคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยร่วมกับผู้อื่น ทั้งนี้ การทำวิจัยอาจตั้งต้นด้วยปัญหาวิจัยระดับแนวหน้า หรือปัญหาที่มีความสำคัญในระดับชาติหรือระดับภูมิภาคก็ได้ แต่คุณภาพของงานวิจัยจะต้องได้คุณภาพระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อทำการวิจัยแล้วการเลือกตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงในวารสารวิชาการซึ่งมีความจำเพาะของประเภทเนื้อหาที่ตีพิมพ์ต่างกันไปก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยบรรณาธิการก็จะพิจารณาในหลายประเด็นรวมถึงจริยธรรมการวิจัยด้วย โดยงานวิจัยจะต้องขอจริยธรรมการวิจัยก่อนทำการวิจัยให้เรียบร้อย เป็นงานวิจัยต้นฉบับ ไม่ได้ลอกเลียนแบบ (Plagiarism) หรือผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่เคยตีพิมพ์กับวารสารใด ๆ มาก่อน เป็นต้น
จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ จึงกล่าวถึงการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและการเติบโตในตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งเป็นประเด็นที่พบการทำผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ โดยเล่าถึงประสบการณ์การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่พบเห็นการโกงหลากหลายวิธี และกล่าวถึงการขอตำแหน่งทางวิชาการโดยการตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่ไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า แต่ก็มีช่องโหว่ในการโกงจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์เช่นกัน ซึ่งมองว่าเหตุอาจจะเกิดจากความต้องการก้าวหน้าในอาชีพการงาน ต้องการค่าตอบแทนหรือรางวัลจากการวิจัย ไปจนถึงความกดดันที่เป็นผลมาจากการแข่งขันในการจัดอันดับความเป็นเลิศในวงการอุดมศึกษา อย่างไรก็ตามขอให้นักวิจัยมีความซื่อสัตย์ มีวิญญาณในการวิจัย ที่ได้ถามและตอบคำถามที่เราอยากรู้ ได้ความรู้ใหม่ และการได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม มีทัศนคติที่มองว่าการวิจัยเป็นไฟภายใน และเป็นความหลงใหล และเป็นงานบังคับสำหรับอาชีพ และจงก้าวต่อไปอย่างมีคุณค่า
ปิดท้ายด้วย ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ได้แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับประเด็นจรรยาบรรณและจริยธรรมว่า แท้จริงแล้วข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อป้องกันการผิดจรรยาบรรณและจริยธรรมทางวิชาการอาจจะไม่มีความจำเป็น หากเรามีวัฒนธรรมของนักวิจัย เคารพรักในวิชาชีพ และเคารพในศักดิ์ศรีของตัวเรา สำหรับในกรณีของการซื้อขายงานวิจัย ได้กล่าวถึงจุดยืนขอมหาวิทยาลัยมหิดลว่า หากมีประเด็นเกิดขึ้นมหาวิทยาลัยมหิดลจะไม่ปิดบังข้อมูลและจะดำเนินการแก้ไขและป้องกันอย่างตรงไปตรงมา พร้อมขอให้หลีกเลี่ยงการกระทำผิดจรรยาบรรณและจริยธรรมการวิจัย โดยสรุปข้อควรระวังเป็นอุทาหรณ์ในการทำงานและตีพิมพ์ผลงานวิจัย ได้แก่

1. ซื้อขายชื่อผู้เขียนผลงานวิจัย
2. ไม่ได้ขอจริยธรรมการวิจัย หรือขอการรับรองตามระเบียบการวิจัยอื่น ๆ ซึ่งต้องดำเนินการก่อนและไม่สามารถย้อนกลับมาขอภายหลังได้
3. ใส่ชื่อผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัย (Gift Authors) หรือจ้างผู้อื่นทำงานวิจัยแทนตนเอง (Ghost Authors)
4. สร้างชื่อปลอมขึ้นมา และแอบอ้างชื่อสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัย (Fake Authors)
5. ใช้บริการบริษัทบริการแต่งข้อมูลปลอม หรือใช้ AI เขียนงานวิจัย
6. ใช้บริการเอเจนซี่ตีพิมพ์งานวิจัย
7. ลอกเลียนแบบผลงานวิจัยทั้งงานของตนเองและผู้อื่น (Plagiarism)
8. ส่งผลงานวิจัยเรื่องเดียวกันตีพิมพ์หลายวารสาร หรือส่งโครงการเรื่องเดียวกันที่มีรายละเอียดเหมือนกันขอทุนหลายที่ (Duplication)
9. ซอยแบ่งงานวิจัยที่ควรจะตีพิมพ์เป็น 1 บทความ แยกตีพิมพ์เป็นหลายบทความ โดยมีรายละเอียดบางส่วนทับซ้อนกัน (Salami Publication)
10. อ้างอิงบทความวิจัยที่ถูกถอดออกจากวารสาร (Zombie Publication)

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมกิจกรรมเสวนาสาธารณะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล “จริยธรรมการวิจัยกับปัญหาการซื้อขายผลงาน” ย้อนหลัง

ตอนที่ 1 : Research & Publication and Ethical Issues ได้ที่
ได้ที่ https://youtu.be/RK2J-gDTUEU
ตอนที่ 2 : จริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ
ได้ที่ https://youtu.be/5JeKzeYyngM
ตอนที่ 3 : 10 ประเด็นจรรยาบรรณและจริยธรรม
ได้ที่ https://youtu.be/pZIorh-FQb4
และข่าวสารการจัดกิจกรรม หรือข่าวต่าง ๆ ที่น่าสนใจของคณะวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจได้ทาง https://science.mahidol.ac.th/news/

Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 20 มกราคม 2566