25 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 ร่วมแบ่งปันมุมมองด้านการวิจัยในการเสวนา “ประสบการณ์ ความสำเร็จ และเส้นชัยสู่การได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ” กับ ดร.วิภารัตน์ว ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ 3 นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด ได้แบ่งปันประสบการณ์และมุมมองในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับ
รังสีคอสมิก อนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ ที่ตนกำลังศึกษาอยู่ว่า ผู้คนอาจจะคิดว่าการวิจัยเกี่ยวกับอวกาศเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีที่อยู่ในมือของเราอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ก็มีการรับส่งสัญญาณจากดาวเทียมในอวกาศ ซึ่งดาวเทียมในอวกาศและยานอวกาศ หรือแม้กระทั่งหม้อแปลงไฟฟ้าบนโลกนั้นก็อาจเสียหายจากพายุสุริยะและรังสีคอสมิกได้ ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจตามมามหาศาล และรังสีคอสมิกยังคุกคามต่อสุขภาพของนักบินอวกาศอีกด้วย การศึกษารังสีคอสมิกซึ่งถือเป็นงานวิจัยพื้นฐานจึงมีความสำคัญอย่างมาก จึงอยากให้หน่วยงานให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานมากขึ้น และมองว่าควรสนับสนุนให้นักวิจัยได้ทำงานวิจัยตามความสนใจ เพราะงานวิจัยที่นำทางโดยความใฝ่รู้ (curiosity-driven research) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาความสามารถในการคิดทางวิทยาศาสตร์ และสร้างเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการแข่งขันกับนานาชาติได้
นอกจากนั้น ในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บัวรอง ลิ่วเฉลิมวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้างานวิจัยและวิรัชกิจ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ได้ร่วมแสดงความยินดี และฟังการเสวนา ณ ห้องวิภาวดี Ballroom C ชั้น L โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 25 มกราคม 2565