17 มกราคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café : ส่องแนวคิดเบื้องหลังการวิจัยฟิสิกส์อวกาศของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พูดคุยเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของ Professor Dr. David John Ruffolo นักฟิสิกส์อวกาศ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิทยาศาสตร์รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ และคณิตศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 42 คน
ตลอดการเสวนา Professor Dr. David หรืออาจารย์เดวิดของนักศึกษา ได้เล่าถึงความสำคัญของการศึกษารังสีคอสมิก และสภาพอวกาศ ก่อนจะนำเสนองานของทีมวิจัยในปัจจุบันและผลงานวิจัยเด่นที่ผ่านมา ต่อด้วยงานของทีมวิจัยในอนาคต รวมถึงความตั้งใจแรกและแนวคิดในการทำงานที่ยืดมั่นมาตลอดการขับเคลื่อนวงการวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศในประเทศไทยกว่า 33 ปี
อาจารย์เดวิดเล่าถึงความสำคัญของการศึกษารังสีคอสมิกให้เห็นภาพอย่างง่าย ๆ ว่าที่ผิวดวงอาทิตย์มีการระเบิดเป็นครั้งคราวที่เรียกว่าพายุสุริยะ จะมีอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ หรือ “รังสีคอสมิก” ซึ่งส่งผลกระทบทาง “สภาพอวกาศ” และคุกคามต่อสุขภาพของนักบินอวกาศ หรือแม้แต่ผู้โดยสารเครื่องบินบริเวณขั้วโลก สามารถทำลายดาวเทียมและยานอวกาศ หรือหม้อแปลงพังและไฟฟ้าดับบนโลกซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังขาดความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเข้าใจได้สมบูรณ์ต่อเมื่อวัดรังสีคอสมิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากพื้นโลกและจากอวกาศ และต้องศึกษาลักษณะความปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กในอวกาศ ซึ่งกำหนดการเคลื่อนที่ของอนุภาครังสีคอสมิก เราศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยการสร้างสถานีตรวจวัดนิวตรอน การวิเคราะห์ข้อมูลจากยานอวกาศ และการคิดทฤษฎีและการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์
ที่ผ่านมาอาจารย์เดวิดมีผลงานเด่นด้านฟิสิกส์อวกาศมากมาย อาทิ สร้างกลุ่มวิจัยที่ผลิตผลงานด้านทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิกมายังโลกท่ามกลางความปั่นป่วนของลมสุริยะ การเร่งอนุภาคที่คลื่นกระแทกจากพายุสุริยะ และวิธีบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกมาถึงโลกและส่งผลกระทบทางสภาพอวกาศต่อกิจกรรมของมนุษย์ การติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์ เพื่อวัดอนุภาคและพลังงานของรังสีคอสมิกต่อเวลา รวมทั้งนำทีมนักวิจัยจาก 4 ประเทศ (ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) โดยได้รับการสนับสนุนระยะ 10 ปีจาก Australian Antarctic Division (AAD) เพื่อดูแลและปรับปรุงเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและอนุภาคมิวออน ณ Mawson Station ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นการส่งออกเทคนิคที่เราพัฒนาในไทยไปสู่ต่างประเทศ การเข้าร่วมในโครงการ LHAASO ซึ่งมีเครื่องวัดรังสีคอสมิกยักษ์ใหญ่ ขนาดกว่า 1 ตร.กม. ใน ประเทศจีน โดยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อศึกษารังสีคอสมิกจากทิศทางต่าง ๆ นอกจากนั้นยังได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe (PSP) ขององค์กร NASA ซึ่งเป็นยานแรกที่ผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมเสนอที่มาของพลังงานความปั่นป่วนอันสูงในลมสุริยะ เนื่องจากความไม่เสถียรที่เกิดจากความเฉือนระหว่างเชือกฟลักซ์ต่าง ๆ ในลมสุริยะ ซึ่งได้รับความสนใจและแข่งขันอยู่กับทฤษฎีอื่นอีกด้วย
สำหรับงานของอาจารย์เดวิดและทีมวิจัยในปัจจุบัน และการต่อยอดในอนาคต เผยว่าจะต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน PSP ขององค์กร NASA เพิ่มเติม ขณะยานนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมกับข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้นทีมวิจัยกำลังจะออกแบบและสร้างเครื่องวัดรังสีคอสมิกขนาดเล็ก เพื่อติดตามผลกระทบของพายุสุริยะต่อกัมมันตรังสีรอบโลก สำหรับดาวเทียมวิจัยดวงแรกของไทย (Thai Space Consortium 1 หรือ TSC-1) ซึ่งวางแผนว่าจะโคจรข้ามขั้วโลก ในระยะต่อไปก็ตั้งใจที่จะพัฒนาเครื่องวัดรังสีคอสมิกสำหรับยาน TSC-2 ยานอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ซึ่งประเทศไทยมีแผนที่จะพัฒนาขึ้นภายใน 7 ปีข้างหน้านี้
ในส่วนของแนวคิดการทำงาน อาจารย์ ดร.วิทูร ได้ชวนคุยในช่วงท้ายของการเสวนา ซึ่งอาจารย์เดวิดได้เผยถึงการตัดสินใจเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ ณ The University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดในการทำงานว่า ตนเองมีความรู้สึกไม่ดีหากจะทำงานวิจัยอยู่ที่อเมริกาเพื่อความพอใจของตนเองเท่านั้น จึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่ประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นยังมีการศึกษาวิจัยในสาขาฟิสิกส์อวกาศน้อยมาก โดยมีเป้าหมายว่าอยากจะสอนนักศึกษาที่ประเทศไทยให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อวกาศ และชักชวนมาทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์อวกาศร่วมกัน ตลอดการทำงาน 33 ปี ที่ผ่านมาแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ความตั้งใจแรกก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป การได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองทำประโยชน์ให้กับสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขอยู่เสมอ
และจากนั้นจึงปิดท้ายการเสวนาด้วยการฝากถึงน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาว่าให้ตั้งเป้าหมายให้เหมาะกับตนเอง และเมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้ว ให้ทำอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ควรเคารพและให้เกียรติการตัดสินใจของบุตรหลานด้วยเช่นกัน ในส่วนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ อยากฝากให้หันมาให้ความสำคัญกับงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากขึ้น ให้โอกาสและเวลากับนักวิจัยได้ทำงานวิจัยตามความสนใจ เพราะงานวิจัยที่นำทางโดยความใฝ่รู้ (curiosity-driven research) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาความสามารถในการคิดทางวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศและสภาพอวกาศจากทีมวิจัยได้ทาง Facebook page Thai Space Physics & Space Weather และรับชมการเสวนา Mahidol Science Café : ส่องแนวคิดเบื้องหลังการวิจัยฟิสิกส์อวกาศของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/aAO9bh3VOt/
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : Professor Dr. David John Ruffolo
อาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ
ภาพข่าวโดย: งานสื่อสารองค์กร
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 17 มกราคม 2565
จำนวนคนดู: 79