15 กุมภาพันธ์ 2566 สภาอาจารย์และงานวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัด Mahidol Science Research Forum “รู้ก่อนแย่ แก้ก่อนสาย !!! จริยธรรมการทำวิจัยในคนและสัตว์ เพื่อการขอตำแหน่งทางวิชาการ” เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการ ระเบียบข้อบังคับ การขอจริยธรรมการวิจัยในคนและสัตว์ รวมถึงกรณีศึกษา ปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาในการขอตำแหน่งทางวิชาการให้ราบรื่นและรวดเร็ว ถ่ายทอดทางออนไลน์ผ่าน IPTV โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมรับฟังกว่า 180 คน
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากสองอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการขอตำแหน่งทางวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่คณาจารย์และนักวิจัย โดยมีกรรมการสภาอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์สามท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพ.ณัฐพล ภาณุพินธุ หัวหน้าหน่วยสัตว์ทดลอง งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ เป็นพิธีกร
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ได้บรรยายเกี่ยวกับ “หลักการ ระเบียบข้อบังคับ การขอจริยธรรมการวิจัยในคนและสัตว์” โดยเล่าหลักการขอจริยธรรมการวิจัยซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ คน สัตว์ และเชื้อโรคหรือชีววัตถุ และเน้นไปที่การขอจริยธรรมการวิจัยในคน และในสัตว์ที่ส่งผลไปถึงการตีพิมพ์ผลงานวิจัยและการขอตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงการกำหนดบทบาทและการมีส่วนร่วมของนักวิจัยในการทำวิจัย พร้อมเน้นย้ำถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำงานวิจัย เช่น การซื้อขายชื่อผู้เขียนผลงานวิจัย ซึ่งสามารถรับฟังเพิ่มเติมได้ที่ https://youtu.be/pZIorh-FQb4 ทั้งนี้ท่านได้สรุปข้อแนะนำการขอจริยธรรมการวิจัยในคนที่สำคัญ 10 ข้อ ได้แก่
1. หัวหน้าโครงการควรเป็นผู้ยื่นขอการรับรอง
2. ควรระบุชื่อผู้ร่วมโครงการทุกคน
3. ระบุแหล่งทุนทุกแหล่งที่เกี่ยวกับโครงการ
4. ไม่สามารถดำเนินการวิจัยก่อนวันที่ได้การรับรอง
5. ไม่สามารถขอการรับรองย้อนหลังทุกกรณี
6. ระยะเวลาดำเนินการวิจัยต้องอยู่ภายใต้การรับรอง
7. ระยะเวลาการรับรองไม่จำเป็นต้องรองรับช่วงเตรียมผลงานตีพิมพ์
8. การ Amendment ต้องเหมาะสมและได้รับการรับรองก่อน
9. ต้องต่ออายุการรับรองก่อนหมดอายุ (ไม่ขาดช่วง)
10. ตรวจสอบข้อมูลการรับรองให้ถูกต้องในการตีพิมพ์
ส่วนการขอจริยธรรมการวิจัยในสัตว์ มหาวิทยาลัยมหิดลขอให้อาจารย์ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ทุกชนิดขอจริยธรรมการวิจัยในสัตว์ โดยจะมีประกาศอย่างเป็นทางการแจ้งในภายหลังต่อไป
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ได้บรรยายในหัวข้อ “กรณีศึกษา ปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่ราบรื่นรวดเร็ว” โดยได้แชร์ถึงกรณีที่ควรระมัดระวังในการทำงานวิจัยซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการขอจริยธรรมการวิจัยและการขอตำแหน่งทางวิชาการ เช่น การใช้รูปภาพมีลิขสิทธิ์จากแหล่งต่าง ๆ การใช้ชีววัตถุต่าง ๆ อาทิ เซลล์ที่เลี้ยงให้เติบโตนอกร่างกายสิ่งมีชีวิตเพื่อการวิจัย (cell line) เลือดของคนไข้ อนุภาคของเชื้อโรคต่าง ๆ การจ้างแปลงานวิจัย การส่งงานวิจัยตีพิมพ์โดยไม่รอให้ผู้ร่วมวิจัยตรวจสอบให้เรียบร้อย การติดตั้งเครื่องมือไม่ตรงตามเอกสารที่ระบุขอบเขตของงาน (TOR) การลงนามรับรองการตรวจนับอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยไม่ได้ตรวจสอบด้วยตัวเอง การพิมพ์ข้อความผิดในเอกสารขอการรับรอง ผลงานที่ส่งตีพิมพ์ หรือเอกสารขอตำแหน่งทางวิชาการ การบริการวิชาการที่เกี่ยวกับคนหรือสัตว์ผ่านหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น พร้อมเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะขอตำแหน่งทางวิชาการด้วยวิธีใด คณะกรรมการจะพิจารณาเรื่องการขอจริยธรรมการวิจัยทั้งหมด ในส่วนของการขอจริยธรรมการวิจัยในสัตว์แนะนำให้ขอจริยธรรมการวิจัยเมื่อต้องทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ทุกชนิดเช่นกัน นอกจากนั้นได้เสริมถึงบทบาทและขอบเขตของผู้วิจัย และประเด็นของผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflicts of Interest) ในกรณีของงานวิจัยที่ทำร่วมกับภาคเอกชนอีกด้วย
จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงตอบข้อซักถามจากผู้ฟัง แล้วปิดท้ายด้วยการมอบของที่ระลึกและถ่ายภาพร่วมกัน ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ธิติคม พัวพันสวัสดิ์ ประธานสภาคณาจารย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้มอบของที่ระลึกกับวิทยากรทั้งสองท่าน
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมย้อนหลังผ่านระบบ Intranet ได้ที่ https://iptv.mahidol.ac.th/topic/83571 และสามารถติดตามข่าวสาร รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ ได้ทาง https://science.mahidol.ac.th/th/
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : –
ภาพข่าวโดย : นายจิราภัทธ เอี่ยมเจริญลาภ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
จำนวนคนดู: 77