2 กุมภาพันธ์ 2565 9 คณาจารย์-อาจารย์เกษียณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 และ 2565 จาก นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564-2565 Thailand Inventors’ Day 2021-2022 ภายใต้แนวคิด “วิถีใหม่ ใส่ใจชีวิต สู่สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 23 เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย”หรือ”กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ซึ่งในโอกาสอันดีนี้ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล ณ Event Hall 102-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2565 นี้ ได้แก่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์เกษียณภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับดีเด่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากผลงานวิจัยเรื่อง “Microbial source tracking: เทคโนโลยีเพื่อการติดตามแหล่งปนเปื้อนจากน้ำเสียสู่การบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน” (Microbial Source Tracking: Technology for Identifying Fecal Pollution Sources for Sustainable Water Resource Management)
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการผลิตโซล่าเซลล์ชนิดเพอร์รอฟสไกต์แบบหลายชั้น ทีละชั้นที่ควบคุมได้เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีประสิทธิภาพและความทนทานความชื้นสูง” (Layer-by-layer Spray Coating of a Stacked Perovskite Absorber for Perovskite Solar cells with Better Performance and Stability Under a Humid Environment)
ศาสตราจารย์ ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาและปรับปรุงสมบัติของอนุภาคแม่เหล็กนาโนและอนุภาคกราฟีนออกไซด์เพื่อการใช้งานทางด้านสิ่งแวดล้อมและการแพทย์” (Development and Property Enhancement of Magnetic Nanoparticles and Graphene Oxide for Environmental and Medical Applications)
รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง “การควบคุมพฤติกรรมการเปลี่ยนสีของพอลิไดอะเซทติลีนแอสเซมบลี: อิทธิพลของการจัดเรียงตัวสายโซ่ สารเติมแต่ง แอลกอฮอล์ พอลิเมอร์ และตัวทำละลาย” (Control Over Color-transition Behaviors of Polydiacetylene Assemblies: Influences of Chain Organization, Alcoholic and Polymeric Additives, and Solvents)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากผลงานวิจัยเรื่อง “แพลตฟอร์มเซนเซอร์ตรวจวัดกลิ่นแบบไอโอทีสำหรับโรงงานสีเขียวและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ” (IoT Odor Sensor Platform Technology for Smart Green Factory and Environment)
และผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2564 ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บังอรศิริ อินตรา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปีงบประมาณ 2564 ระดับดีมาก สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “การคัดเลือกการบ่งชี้และการศึกษาคุณลักษณะของสายพันธุ์และสาร ทุติยภูมิจากเชื้อแอคติโนมัยซีท” (Screening, Identification, and Characterization of Actinomycetes and their Secondary Metabolites) โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดาราภรณ์ เตรียมโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง “วิธีการผลิตซิลิกาแอโรเจลรูปร่างทรงกลมที่มีขนาดระดับไมครอน” A Method for Producing a Micron-Size Spherical Silica Aerogel
รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.ฤดี เหมสถาปัตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานวิจัยเรื่อง “เนื้อเยื่อเทียมจากวัสดุสังเคราะห์” Synthetic Tissue Substitute
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัย ผู้ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 ระดับประกาศเกียรติคุณ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช จากผลงานวิจัยเรื่อง ” “VIP-Safe Plus” ชุดตรวจแลมป์เคมีไฟฟ้าแบบรวดเร็วขนาดพกพาเพื่อตรวจเชื้อก่อโรคในอาหาร” (“VIP-Safe Plus” LAMP-electrochemical Sensor for Detection of Foodborne Pathogens)
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถร่วมชมนิทรรศการและผลงานวิจัย ประดิษฐ์คิดค้นของผู้ได้รับรางวัล และผลงานประดิษฐ์คิดค้นอื่น ๆ จากทั่วประเทศกว่า 1,000 ผลงานในวันนักประดิษฐ์ ณ Event Hall 102-104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ได้ตั้งแต่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2565 นี้
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
และ ว่าที่ ร.ต.หฤษฎ์ อภิเดช
และนางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
จำนวนคนดู: 165