สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่คณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567

2 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventor’s Day 2024) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ” และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เฝ้ารับเสด็จและเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

งานวันนักประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่ได้สร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์ได้เผยแพร่ ถ่ายทอด ขยายผลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์และสาธารณชน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์จากนานาประเทศ ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ และเพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”

ในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้แทนคณบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขากายภาพ
ดร.เขตภากร ชาครเวท
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี
ผลงานวิจัย : ผลของการแลกเปลี่ยนแม่เหล็กทางตรงและอะตอมหนักต่อการผ่อนคลายทางแม่เหล็กของแม่เหล็กโมเลกุลเดี่ยวโลหะทรานซิชั่น

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาเศรษฐศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัญญพงศ์ เพชรร่มโพธิ์
อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์
ผลงานวิจัย : วิธีการหาค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหาที่มีหลายวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดการรายการสินทรัพย์หลากประเภท

รางวัลผลงานประดิษฐ์ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ
อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ
นายตรีเนตร เทพอุดม
นายเศรษฐา สียัง
นายชญานิน คุณารักษ์
นางสาววันดี วัฒนกฤษฎิ์
ผลงานวิจัย : เทคโนโลยีตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัล สำหรับการวิเคราะห์คุณภาพในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
โดยทีมวิจัยได้นำเสนอตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลในนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์อีกด้วย

นอกจากนี้ มีอาจารย์อาวุโสและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัย และมีส่วนร่วมในทีมวิจัยซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยอีกกว่า 5 รางวัล ได้แก่

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงจุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ และคณะ
ผลงานวิจัย : ฟ้าทะลายโจร : จากงานวิจัยพื้นฐานสู่การประยุกต์ใช้

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ
ผู้ร่วมทีมวิจัย : การคัดกรองและทดสอบหาตัวยาต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นพิษต่ำสาหรับผู้ป่วยมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก

รางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข
ผู้ร่วมทีมวิจัย : ระบบการเตือนภัยและคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชน

รางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ นาคะปรีชา
ผู้ร่วมทีมวิจัยเรื่อง : นาโนคอมโพลิตชนิดใหม่ที่มีพอลิเมอร์ที่มีรอยพิมพ์ประทับโมเลกุลสำหรับการตรวจวัดสารชี้วัดทางชีวภาพที่สำคัญ แบบจำเพาะเจาะจงและสภาพไวสูงด้วยเทคนิคไฟฟ้าเคมี

รางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์
ผู้ร่วมทีมวิจัยเรื่อง : การพัฒนาเส้นด้ายนำไฟฟ้าสำหรับประยุกต์ใช้งานเป็นเซนเซอร์ และอุปกรณ์ทำความร้อนแบบสวมใส่

นอกจากนั้น ยังมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทีมอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการภายในงานอีก 2 ผลงาน อาทิ

ผลงานการพัฒนากระบวนการผลิตและศึกษาคุณสมบัติโปรตีนคอลลาเจนบริสุทธิ์จากจระเข้สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะฯ ร่วมกับ นางสาวพรนภา จันทรเพ็ง นางสาวพิชญามน มหารัตนวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ  และบริษัทศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย)

ผลงาน PiLeaf EcoLeather หนังเทียมจากเส้นใยใบสับปะรด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ร่วมกับ นายสรณ์ ดวงสุวรรณ นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ และคณะ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยที่โดดเด่นจาก Malaysian Invention and Design Society (MINDS) จากมหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024 ในงานอีกด้วย

โดยผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากงานวิจัยของหน่วยงานในประเทศไทยและต่างประเทศมากกว่า 1,000 ผลงาน การประกวดแข่งขันผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทั้งระดับเยาวชนและระดับนานาชาติ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอีกมากมาย ซึ่งได้ตั้งแต่วันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 -17.00 น. ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : งานวิจัย
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567