2 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 (Thailand Inventor’s Day 2024) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ” และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เฝ้ารับเสด็จและเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
งานวันนักประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยที่ได้สร้างงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์ได้เผยแพร่ ถ่ายทอด ขยายผลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่ผู้ใช้ประโยชน์และสาธารณชน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์จากนานาประเทศ ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ และเพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย”
ในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้แทนคณบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่
รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขากายภาพ
ดร.เขตภากร ชาครเวท
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี
ผลงานวิจัย : ผลของการแลกเปลี่ยนแม่เหล็กทางตรงและอะตอมหนักต่อการผ่อนคลายทางแม่เหล็กของแม่เหล็กโมเลกุลเดี่ยวโลหะทรานซิชั่น
รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาเศรษฐศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัญญพงศ์ เพชรร่มโพธิ์
อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์
ผลงานวิจัย : วิธีการหาค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหาที่มีหลายวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดการรายการสินทรัพย์หลากประเภท
รางวัลผลงานประดิษฐ์ ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ
อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ
นายตรีเนตร เทพอุดม
นายเศรษฐา สียัง
นายชญานิน คุณารักษ์
นางสาววันดี วัฒนกฤษฎิ์
ผลงานวิจัย : เทคโนโลยีตรวจวัดกลิ่นแบบดิจิทัล สำหรับการวิเคราะห์คุณภาพในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
โดยทีมวิจัยได้นำเสนอตัวอย่างผลงานที่ได้รับรางวัลในนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์อีกด้วย
นอกจากนี้ มีอาจารย์อาวุโสและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัย และมีส่วนร่วมในทีมวิจัยซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยอีกกว่า 5 รางวัล ได้แก่
รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงจุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ และคณะ
ผลงานวิจัย : ฟ้าทะลายโจร : จากงานวิจัยพื้นฐานสู่การประยุกต์ใช้
รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ
ผู้ร่วมทีมวิจัย : การคัดกรองและทดสอบหาตัวยาต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูง และเป็นพิษต่ำสาหรับผู้ป่วยมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก
รางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ศกรณ์ มงคลสุข
ผู้ร่วมทีมวิจัย : ระบบการเตือนภัยและคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ด้วยการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชน
รางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ นาคะปรีชา
ผู้ร่วมทีมวิจัยเรื่อง : นาโนคอมโพลิตชนิดใหม่ที่มีพอลิเมอร์ที่มีรอยพิมพ์ประทับโมเลกุลสำหรับการตรวจวัดสารชี้วัดทางชีวภาพที่สำคัญ แบบจำเพาะเจาะจงและสภาพไวสูงด้วยเทคนิคไฟฟ้าเคมี
รางวัลผลงานวิจัย รางวัลระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร โอสถจันทร์
ผู้ร่วมทีมวิจัยเรื่อง : การพัฒนาเส้นด้ายนำไฟฟ้าสำหรับประยุกต์ใช้งานเป็นเซนเซอร์ และอุปกรณ์ทำความร้อนแบบสวมใส่
นอกจากนั้น ยังมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทีมอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจัดแสดงในนิทรรศการภายในงานอีก 2 ผลงาน อาทิ
ผลงานการพัฒนากระบวนการผลิตและศึกษาคุณสมบัติโปรตีนคอลลาเจนบริสุทธิ์จากจระเข้สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และคณะฯ ร่วมกับ นางสาวพรนภา จันทรเพ็ง นางสาวพิชญามน มหารัตนวงศ์ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และบริษัทศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย)
โดยผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากงานวิจัยของหน่วยงานในประเทศไทยและต่างประเทศมากกว่า 1,000 ผลงาน การประกวดแข่งขันผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมทั้งระดับเยาวชนและระดับนานาชาติ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการอีกมากมาย ซึ่งได้ตั้งแต่วันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 -17.00 น. ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : งานวิจัย
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567