ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) และ หน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ (MDMD) ภายใต้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีรับมอบหุ่นจำลอง “หมูเด้ง” จากน้ำยางพารา ให้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

       20 ธันวาคม 2567 ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) และ หน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ (MDMD) ภายใต้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี, ศาสตราจารย์ ดร.วิฑูร แสงศิริสุวรรณ รองคณบดี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรทิพา กอประเสริฐถาวร รองคณบดีฝ่ายคลังและพัสดุ และ ดร.มนัส ศรีหริ่ง นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง และหน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ พร้อมด้วย นักวิจัย เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน จัดพิธีรับมอบหุ่นจำลอง “หมูเด้ง” จากน้ำยางพารา ให้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย นางสมรัก บุษปธำรง รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะทีมจากองค์การสวนสัตว์ฯ ณ ห้องประชุม K101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

       โดยก่อนหน้านี้ ทางองค์การสวนสัตว์ฯ ได้มีความยินดีและอนุญาต ให้ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง และ หน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ ใช้ลิขสิทธิ์ “หมูเด้ง” เพื่อจัดทำต้นแบบหุ่นจำลองลูกฮิปโปโปเตมัสแคระ “หมูเด้ง” จากน้ำยางพาราที่พัฒนาให้มีผิวสัมผัสเหมือนผิวสิ่งมีชีวิตจริง สำหรับถวายเป็นของที่ระลึกแด่ พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2567 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งทางองค์การสวนสัตว์ฯ ได้เล็งเห็นว่า หุ่นจำลองลูกฮิปโปโปเตมัสแคระ “หมูเด้ง” จากน้ำยางพารา ที่ทางศูนย์วิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ได้จัดทำ มีความสมส่วนและมีความเป็นธรรมชาติ จึงได้มีการเรียนขอความอนุเคราะห์ให้ทางศูนย์วิจัย จัดทำหุ่นจำลอง “หมูเด้ง” จากน้ำยางพารา ให้แก่องค์การสวนสัตว์ฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมขององค์การสวนสัตว์ฯ จำนวน 1 ตัว

       ทางคณะวิทยาศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดพิธีรับมอบหุ่นจำลอง “หมูเด้ง” จากน้ำยางพารา ในครั้งนี้ จะเกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบกระบวนการทำงาน ในแต่ละหน่วยงานของตนเอง ให้มีการพัฒนาต่อยอดและได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดต่อผู้ทำงาน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และการอนุรักษ์ วิจัยสัตว์ เพื่อนำไปต่อยอดและร่วมกันพัฒนาด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมของสวนสัตว์ทุกแห่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสัตว์และการท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐาน พร้อมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมอย่างเป็นวงกว้าง และสามารถเข้าถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปได้อย่างหลากหลาย

เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวสุภาวดี เพ็ชร์น้อย
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 20 ธันวาคม 2567