คณะวิทย์ ม.มหิดล จัดสัมมนา “Next Generation Investigators Retreat 2024” สร้างกลไกลการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของคณะฯ และมหาวิทยาลัย

       31 กรกฎาคม 2567 – 2 สิงหาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมสัมมนา “Next Generation Investigators Retreat 2024” ณ โรงแรม U Khao Yai  จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์ได้รับทราบนโยบายของคณะฯ และมหาวิทยาลัย ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำงานวิจัยและนวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน และกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและการทำงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันในอนาคต และเพิ่มโอกาสการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับสากล และงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมและประเทศชาติต่อไป

       ในโอกาสนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวต้อนรับอาจารย์ผู้เข้าร่วมสัมมนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และนางสาวนาภประภา หน่อนิล เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป หน่วยพัฒนาธุรกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์  รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Elements of Research and Innovation to Real-World Impact” และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์  ดร. นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนและขยายเครือข่ายงานวิจัยขั้นแนวหน้าฯ บพค. ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Funding Opportunities for Frontier Research” เพื่อให้ข้อมูลและแนวทางการพัฒนางานวิจัยให้ตรงตามเป้าหมายของคณะฯ มหาวิทยาลัย และประเทศ เพื่อนำไปสู่ผลิตผลที่พัฒนาต่อได้จริง นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา เกตุวงศา รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ และรองศาสตราจารย์ ดร.อารียา จันทศรี  เป็นวิทยากรในกิจกรรมเสวนาพิเศษในหัวข้อ  “Story Sharing”   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างกัน ร่วมกับนักวิจัยที่มีประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและการทำงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันในอนาคต 

       นอกจากนี้ ในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ การได้รับฟังการบรรยาย “Researchers Must Know” โดย นายสิรภพ วงษ์เนียม หัวหน้างานวิจัย เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลสนับสนุนภาระกิจของงานวิจัยและนวัตกรรมของคณะฯ กิจกรรม “Toward SDGs” เพื่อให้อาจารย์แต่ละท่านได้นำเสนอความเชี่ยวชาญและผลงานวิจัยของตนเองที่ตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) และแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยต่างสาขาระหว่างกัน กิจกรรม “Sharing is Caring” เป็นกิจกรรมที่อาจารย์ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างกัน เพื่อเป็นแนวทางให้คณะฯ สามารถนำไปใช้ปรับปรุงในเชิงนโยบาย กิจกรรม “Route Check Rally” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นกลางแจ้ง เพื่อสร้างความสนุกสนานพร้อมกับให้ความรู้ด้านงานวิจัยและนวัตกรรมแก่อาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรม และสุดท้าย กิจกรรม “MUSC to the Moon: Pitching and Networking” ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและการทำงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันต่อไปในอนาคต โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการสัมมนาอาจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งวิชาการระดับอาจารย์ ที่ปฏิบัติงานในคณะวิทยาศาสตร์มาแล้วไม่เกิน 10 ปี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่ปฏิบัติงานในคณะวิทยาศาสตร์มาแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 33 ท่าน จากภาควิชาและกลุ่มสาขาวิชาของคณะวิทยาศาสตร์

เขียนข่าว : นางสาวปิยะธิดา ละม้าย
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : งานวิจัย
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 15 สิงหาคม 2567