10-11 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในนามภาควิชาพฤกษศาสตร์และเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ ร่วมขบวนภาคีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรม Botanical Art Workshop ในงาน “Wit in Bangkok 2024” พาชาวกรุงเทพมหานครเปิดโลกวิทยาศาสตร์ภายใต้แนวคิด “Up Sci Town: วิทย์ทุกมุมเมือง” ณ อาคารพิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ (โรงงานผลิตยาสูบ 5) สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร
งาน Wit in Bangkok 2024 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ประเทศไทย นำโดย WiTcast, The Principia, GYBN Thailand, นี่แหละชีวะ, SaySci, KornKT และคนช่างสงสัย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตามนโยบาย “12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งแต่ละเทศกาลจะดึงเอกลักษณ์และศักยภาพของแต่ละย่านทั่วกรุงออกมา โดยเทศกาลในเดือนสิงหาคม คือ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย สอดคล้องกับการเรียนรู้ และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมถึงเป็นพื้นที่เสริมประสบการณ์ สร้างความตระหนัก และทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศกว่า 50 ภาคีเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ภายในงานภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมชาติผ่านภาพวาดพฤกษศาสตร์ที่สวยงาม โดยจัดนิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ Mini Botanical Art Exhibition กิจกรรมลงสีตัวเล็กตัวน้อยจาก 3D-printing พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าลวดลาย botanical art ทั้งผ้าพันคอ กระเป๋า ภาพพิมพ์ หนังสือ และสูจิบัตรจากนิทรรศการสานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์ ครั้งที่ 6 (BAT2024) อีกด้วย
นอกจากนั้นภายในงานยังมีการเสวนาที่เชิญนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ อาทิ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ รองศาสตราจารย์ และ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ 2 นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย การันตีโดยรางวัล Mahidol Science Communicator Award นักวิชาการ คนดัง และนักกิจกรรมมากหน้าหลายตา ที่คลุกคลีอยู่กับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในเมืองกรุงเทพมหานคร มาแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และความคิดเห็นที่จะช่วยพัฒนาผู้คนในเมืองแห่งนี้ ให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ยุคเปลี่ยนผ่าน สื่อสารวิทย์, อดีต ปัจจุบัน อวกาศ, จิตวิทยาและสมอง เพื่อคนเมือง, การเรียนรู้ในกรุงฯ, ไดโนเสาร์ในไทย, 8 Minute Wit-story โดยผู้ที่พลาดรับชมสามารถดูย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/theprincipiaco
รวมถึงมีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยภาคีเครือข่าย เช่น “จากเมล็ดพันธุ์สู่ผักบนจาน” และ “แมลงตัวนั้นตัวนี้ มีเยอะมากมาย” จัดโดยมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์, “สวนเธอที่สวนเบญฯ” เดินชมสวนยามเย็นและยามค่ำ จัดโดยทีมวิทยากรจาก Nature Plearn Club, “พับกบ พบกับ การพับกบที่จะได้พบกับ… ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ” ผู้สอนพับกระดาษโอริงามิมากประสบการณ์ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัล Mahidol Science Communicator Award, “รู้จักดาราศาสตร์ผ่านโมเดลกระดาษ” จัดโดยชมรมดาราศาสตร์จากบางแสน รวมถึงกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนิทรรศการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานต่าง ๆ อีกมากมาย
กิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยในการพัฒนาวิธีคิด พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงตัดสินใจจากข้อมูลที่หลากหลายและตรวจสอบได้ ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำไปสู่การพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : Facebook page Plant Science,
Facebook page Sci-Art Network เครือข่ายวิทย์สานศิลป์,
Facebook page ภาคีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ – Science Communicator Association,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 15 สิงหาคม 2567