คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จับมือ Thai Union และ NIA จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café SPACE-F webinar จุดประกายนักศึกษาและคณาจารย์ก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ประกอบการนวัตกรรม

Activity Photo
27 เมษายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café SPACE-F webinar จุดประกายนักศึกษา คณาจารย์ และผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีด้านอาหาร ในการก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ประกอบการเปิดโอกาสแชร์ความคิดสร้างสรรค์ ทดลองสร้างธุรกิจ ทำวิจัยร่วมเชิงพาณิชย์ รวมถึงฝึกงานกับบริษัทสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F โดยมี Dr. Chris Aurand, Open Innovation Leader จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มาอัปเดตเกี่ยวกับโอกาสและเทรนด์ในวงการฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ พร้อมด้วยรุ่นพี่สตาร์ทอัพ ในโครงการ SPACE-F ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm คุณตรัย สัสตวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บริษัท Tasted Better และ Mr. Fabian Reusch, กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท HydroNeo มาร่วมบอกเล่าแรงบันดาลใจและประสบการณ์สร้างนวัตกรรมด้านอาหาร ดำเนินรายการภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live
โดยในช่วงต้นของการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหาร ก่อตั้งโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทั้ง 3 หน่วยงาน มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial ecosystem) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อให้สตารท์อัพสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ทำให้ SPACE-F เป็นโครงการที่สร้างโอกาสและเป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ หรือสตาร์ทอัพของประเทศ ซึ่ง ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ในฐานะตัวแทนอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ตรงในการร่วมงานกับโครงการ SPACE-F และภาคเอกชนอื่น ๆ โดยประสานงานผ่านหน่วยพัฒนาธุรกิจ ได้เล่าว่าการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมว่า ช่วยขยายมุมมองในการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กว้างขึ้นได้เป็นอย่างดี
ในส่วน Dr. Chris Aurand จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงประวัติของบริษัทรวมถึงกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมองค์กร (Corporate Innovation) ที่จะมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตให้แก่ธุรกิจภายในเครือ และด้วยความเชื่อที่ว่าความคิดสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ จึงได้จับมือกับภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนเพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด นอกจากนี้ บริษัทได้ทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดในการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ในปี 2562 ไทยยูเนี่ยนจัดตั้งกองทุน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพฟู้ดเทคทั่วโลกที่มีนัยยะสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในอนาคต ด้วยไทยยูเนี่ยนเห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคในประเทศไทยจึงเป็นที่มาของการร่วมก่อตั้งโครงการ SPACE-F โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพฟู้ดเทคสัญชาติไทยและต่างประเทศที่อยู่ระยะบ่มเพาะ (Incubator) และเร่งการเติบโต (Accelerator) ให้สามารถต่อยอดจากความคิดไปเป็นผลิตภัณฑ์ และนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในประเทศไปจนถึงระดับภูมิภาค พร้อมกับเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสตาร์ทอัพฟู้ดเทคในโครงการ ณ ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการมาสู่รุ่น 3 โดยมีไทยเบฟ และดีลอยท์ ประเทศไทยเข้าร่วมสนับสนุน และกำลังจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกสตาร์ทอัพโครงการรุ่นที่ 4 สำหรับเทรนด์ในของตลาดฟู้ดเทคในปัจจุบัน จากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนปลี่ยนไป การทำงานที่บ้าน (work from home) หรือการที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน (Functional Ingredients) อาหารเพื่อสุขภาพ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสุขภาวะทางจิต จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจอาหาร สตาร์ทอัพในโครงการรุ่น 3 เช่น Tasted Better Jamulogy และ Potent Fungi ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวเช่นกัน
ด้านคุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้อธิบายถึงหน้าที่ของ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าเป็นหน่วยงานส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้เล่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยสร้างโอกาสพร้อมกับสนับสนุนเงินทุนในการทดลองทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงขั้นการผลิตเชิงพาณิชย์และขยายผลสู่วงกว้าง ผ่านการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า (grant) ต่าง ๆ ได้แก่ ทุนโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Grant) ทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation Grant) ทุนโครงการนวัตกรรมดี..ไม่มีดอกเบี้ย (Zero-Interest Loan) รวมทั้ง ได้ร่วมมือกับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ในการดำเนินงานโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) อีกด้วย

และในช่วงที่สองของการเสวนา รุ่นพี่ในโครงการ SPACE-F ได้ร่วมเล่าประสบการณ์และมุมมองจากการเป็นผู้ประกอบการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 และ 2 อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm ซึ่งสนใจเกี่ยวกับพลังงานและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน โดยนำเอาผำ หรือวูฟเฟีย พืชดอกที่โตเร็วที่สุดในโลก มาเพาะเลี้ยง ควบคุมคุณภาพ และจำหน่ายสู่ตลาด ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.flowolffia.com/ มองว่า สตาร์ทอัพจะมีความสำคัญมากขึ้นในโลกและสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 100 ปีข้างหน้า เราจะต้องพึ่งเทคโนโลยีและไอเดียใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือองค์กรขนาดใหญ่เองก็มักที่จะไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาเทคโนโลยีที่จะรองรับต่อความผันผวนและความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ทัน ดังนั้นสตาร์ทอัพที่เกิดจากสายเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญยิ่ง และส่วนตัวเชื่อว่าอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ล้วนมีความฝันอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของเราและมีไอเดียสร้างสรรค์ไม่แพ้ใคร ทั้งนี้เส้นทางสตาร์ทอัพอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนและจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะหลากหลายแขนง รวมถึงมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ดังนั้นหากท่านใดสนใจ อยากแนะนำให้ปรึกษาผู้เคยมีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพมาก่อน เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าเหมาะสมกับตนเอง และเหมาะกับเทคโนโลยีหรือไอเดียที่มีอยู่หรือไม่ รวมถึงควรจะเริ่มต้นสร้างทีมอย่างไร

ขณะที่ Mr.Fabian Reusch กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท HydroNeo ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศเยอรมนี และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 สนใจเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้พัฒนาระบบเลี้ยงกุ้งอัจฉริยะด้วยระบบ Internet of things (IoT) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวว่าการเป็นสตาร์ทอัพต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายความสามารถของเราอยู่เสมอ ซึ่งต้องอาศัยความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ซึ่งทางบริษัทยินดีแบ่งปันและแลกเปลี่ยนไอเดียรวมถึงร่วมงานกับนักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจโดยสามารถติดต่อบริษัทได้ที่ https://hydroneo.net/

ส่วนคุณตรัย สัสตวัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บริษัท Tasted Better ผู้มีความเชื่อว่าก่อนที่เราจะเปลี่ยนโลกต้องทานอาหารที่เปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นก่อน เป็นที่มาของการสร้างสรรค์อาหารประจำวันเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง เช่น ขนมปัง พาสต้า อิเล็กโทรไลต์ ที่ใช้วัตถุดิบให้พลังงานแทนน้ำตาล ซึ่งสามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://taste.co.th/ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ว่า SPACE-F ช่วยเติมเต็มทักษะของผู้ประกอบการในหลายด้าน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำปรึกษา เครือข่ายความร่วมมือ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ช่วยผลักดันให้เราไปได้ไกลขึ้น และฝากสำหรับคนที่มีความฝันอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงว่าคนอื่นอาจจะสงสัยว่าเราจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ขอให้เชื่อในตนเองซื่อตรงต่อตัวเอง และรู้ว่าเรากำลังอะไร มุ่งมั่นตั้งใจ ไม่มีทางลัดสำหรับการประสบความสำเร็จ จงทุ่มเทให้เต็มที่แล้วผลสำเร็จจะตามมาเอง

และในตอนท้ายของการเสวนา Dr. Chris Aurand และคุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค ได้กล่าวปิดท้ายว่า การทำสตารท์อัพก็คือการออกมาจาก comfort zone และนั่นเป็นก้าวแรกซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุด ลองพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการสตาร์ทอัพ พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน เราอาจจะพบช่องทางในการทำธุรกิจที่พาเราเดินทางไปไกลเกินกว่าจะคิดฝันก็เป็นได้
ทั้งนี้ โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 จะทำการเปิดรับสมัครในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารของโครงการ SPACE-F ได้ทาง https://www.facebook.com/spaceffoodtech หรือ ลงทะเบียนรับข่าวสาร SPACE-F Exclusive ได้ที่ https://bit.ly/3LqmTrW และรับชมการเสวนา ย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/cMBz6aRlh3/

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม
นางสาวอนุสรา จิตราธนวัฒน์
นายจิตรภณ จิรกุลสมโชค
นายตรัย สัสตวัฒนา
ภาพข่าวโดย: งานสื่อสารองค์กร
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 27 เมษายน 2565