และในช่วงที่สองของการเสวนา รุ่นพี่ในโครงการ SPACE-F ได้ร่วมเล่าประสบการณ์และมุมมองจากการเป็นผู้ประกอบการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 และ 2 อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm ซึ่งสนใจเกี่ยวกับพลังงานและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน โดยนำเอาผำ หรือวูฟเฟีย พืชดอกที่โตเร็วที่สุดในโลก มาเพาะเลี้ยง ควบคุมคุณภาพ และจำหน่ายสู่ตลาด ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.flowolffia.com/ มองว่า สตาร์ทอัพจะมีความสำคัญมากขึ้นในโลกและสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 100 ปีข้างหน้า เราจะต้องพึ่งเทคโนโลยีและไอเดียใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือองค์กรขนาดใหญ่เองก็มักที่จะไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาเทคโนโลยีที่จะรองรับต่อความผันผวนและความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ทัน ดังนั้นสตาร์ทอัพที่เกิดจากสายเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญยิ่ง และส่วนตัวเชื่อว่าอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ล้วนมีความฝันอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของเราและมีไอเดียสร้างสรรค์ไม่แพ้ใคร ทั้งนี้เส้นทางสตาร์ทอัพอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนและจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะหลากหลายแขนง รวมถึงมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ดังนั้นหากท่านใดสนใจ อยากแนะนำให้ปรึกษาผู้เคยมีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพมาก่อน เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าเหมาะสมกับตนเอง และเหมาะกับเทคโนโลยีหรือไอเดียที่มีอยู่หรือไม่ รวมถึงควรจะเริ่มต้นสร้างทีมอย่างไร
ขณะที่ Mr.Fabian Reusch กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท HydroNeo ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศเยอรมนี และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 สนใจเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้พัฒนาระบบเลี้ยงกุ้งอัจฉริยะด้วยระบบ Internet of things (IoT) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวว่าการเป็นสตาร์ทอัพต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายความสามารถของเราอยู่เสมอ ซึ่งต้องอาศัยความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ซึ่งทางบริษัทยินดีแบ่งปันและแลกเปลี่ยนไอเดียรวมถึงร่วมงานกับนักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจโดยสามารถติดต่อบริษัทได้ที่ https://hydroneo.net/
ส่วนคุณตรัย สัสตวัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บริษัท Tasted Better ผู้มีความเชื่อว่าก่อนที่เราจะเปลี่ยนโลกต้องทานอาหารที่เปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นก่อน เป็นที่มาของการสร้างสรรค์อาหารประจำวันเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง เช่น ขนมปัง พาสต้า อิเล็กโทรไลต์ ที่ใช้วัตถุดิบให้พลังงานแทนน้ำตาล ซึ่งสามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://taste.co.th/ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ว่า SPACE-F ช่วยเติมเต็มทักษะของผู้ประกอบการในหลายด้าน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำปรึกษา เครือข่ายความร่วมมือ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ช่วยผลักดันให้เราไปได้ไกลขึ้น และฝากสำหรับคนที่มีความฝันอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงว่าคนอื่นอาจจะสงสัยว่าเราจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ขอให้เชื่อในตนเองซื่อตรงต่อตัวเอง และรู้ว่าเรากำลังอะไร มุ่งมั่นตั้งใจ ไม่มีทางลัดสำหรับการประสบความสำเร็จ จงทุ่มเทให้เต็มที่แล้วผลสำเร็จจะตามมาเอง
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี
รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม
นางสาวอนุสรา จิตราธนวัฒน์
นายจิตรภณ จิรกุลสมโชค
นายตรัย สัสตวัฒนา
ภาพข่าวโดย: งานสื่อสารองค์กร
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 27 เมษายน 2565