CENMIG ร่วมกับพันธมิตร จัดประชุมสัมมนาวิชาการ “Antimicrobial Resistance and Genomics” แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชื้อดื้อยา แก้ปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก

4 – 5 เมษายน 2567 ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พรชัย มาตังคสมบัติ (CENMIG) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Centre for Research in Infectious Diseases and Biotechnology (CeRIDB), Universiti Zainal Abidin ประเทศมาเลเซีย และห้องปฏิบัติการ Antimicrobial Resistance and Infectious Diseases (AMRID), Murdoch University ประเทศออสเตรเลีย จัดประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง “Antimicrobial Resistance and Genomics” เปิดโอกาสให้นักวิจัยจากนานาประเทศแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพ

ในโอกาสนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี ได้ให้เกียรติร่วมงานพร้อมกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุมสัมมนา โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกผู้ก่อตั้งศูนย์ CENMIG พร้อมด้วย Prof. Chew Chieng Yeo จาก CeRIDB, Faculty of Medicine, Universiti Zainal Abidin ประเทศมาเลเซีย Prof. Sam Abraham และ Dr. Rebecca Abraham จาก AMRID Lab, Murdoch University, ประเทศออสเตรเลีย รองศาสตราจารย์ ดร.โสรยา จาตุรงคกุล จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ ดร.นพ. ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล จากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นพ.ศรัญญู ชูศรี จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และแขกผู้มีเกียรติจากสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ร่วมพิธีเปิด

ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ (Pornchai Matangkasombut Center for Microbial Genomics) หรือ CENMIG เป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยในประเทศไทยที่ทำการศึกษาจีโนม เก็บข้อมูลเพื่อจำแนก และจัดหมวดหมู่เชื้อก่อโรคต่าง ๆ ศึกษาการวิวัฒนาการ ระบาดวิทยา ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีการวิจัยเกี่ยวกับการดื้อยาของเชื้อโรค (Antimicrobial resistance: AMR) ซึ่งเป็นปัญหาที่เร่งด่วนในระดับโลกที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 700,000 รายต่อปี และในอนาคตคาดว่าการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนในปี พ.ศ. 2593 หรือประมาณ 3 เท่าของจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ขณะที่กำลังเกิดการระบาดสูงสุดใน 1 ปี

CENMIG จัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการควบคุมเชื้อดื้อยา ผ่านการแบ่งปันข้อมูล ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยา รวมถึงจีโนมของเชื้อโรคต่าง ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร อาทิ Centre for Research in Infectious Diseases and Biotechnology (CeRIDB) ประเทศมาเลเซีย Antimicrobial Resistance and Infectious Diseases (AMRID) ประเทศออสเตรเลีย ในการจัดกิจกรรม รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันต่าง ๆ ได้แก่ Southampton University ประเทศอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นวิทยากร

ตลอดกิจกรรมมีอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษา รวมถึงภาคเอกชนหลายแห่งให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน โดยถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับนักวิจัยไทยในการแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยจากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบของปัญหาเชื้อดื้อยาต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมในอนาคตอีกด้วย

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 4 เมษายน 2567