คณะวิทย์ฯ ม.มหิดล จัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ Mahidol Science Cafe: ถามตอบข้อสงสัย “แผ่นดินไหว” เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักในการเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต

3 เมษายน 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมเสวนา Mahidol Science Café ถามตอบข้อสงสัย “แผ่นดินไหว” ในรูปแบบ Hybrid เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์แผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา และสร้างความตระหนักในการเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต โดยมี 2 อาจารย์ด้านธรณีฟิสิกส์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูวิศ อมาตยกุล และ อาจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล เป็นวิทยากร และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข และถ่ายสดผ่าน Facebook live

โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล บุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมทั้งในรูปแบบ on-site และ online กว่า 200 คน

ในการเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูวิศ อมาตยกุล และ อาจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล ได้พาผู้ฟังไปทำความรู้จักกับรอยเลื่อน “สะกาย” ต้นเหตุของเหตุการณ์แผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอดีตบริเวณประเทศพม่าซึ่งทำให้กรุงอังวะล่มสลายเมื่อ 186 ปีก่อน หน่วยวัดขนาดของแผ่นดินไหวที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การประเมินความรุนแรงของแผ่นดินไหวซึ่งช่วยให้สามารถตัดสินใจรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหวได้อย่างเหมาะสม ปัจจัยที่ส่งผลต่อความรุนแรงของแผ่นดินไหวจากพม่าสู่ประเทศไทยทั้ง 6 ปัจจัย ได้แก่ ขนาดของแผ่นดินไหว กลไกการเกิดแผ่นดินไหวและทิศทางของรอยเลื่อน ความเร็วในการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ลักษณะและโครงสร้างของชั้นดินในพื้นที่ ความหนา-บางของแผ่นเปลือกโลกในพื้นที่ และความสูงของตึกที่สั่นพ้องกับการสั่นของคลื่นแผ่นดินไหว

โดยแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีขนาดแมกนิจูดถึง 7.7 ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ และเกิดการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน สะกายถึง 400 กิโลเมตร ใน 1 นาที ประกอบกับพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งแผ่นเปลือกโลกย่อยฉานไท ซึ่งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกเดียวกันกับรอยเลื่อนสะกาย ทำให้คลื่นพุ่งมาทางกรุงเทพโดยตรง และพื้นดินใต้กรุงเทพเป็นแอ่งตะกอนเมื่อคลื่นเดินทางจากชั้นหินแข็งเข้าสู่ตะกอนเข้าสู่ชั้นดินอ่อนทำให้คลื่นเคลื่อนที่ออกจากแอ่งได้ยาก และเกิดการแทรกสอดคล้ายกับเลนส์นูนที่สามารถรวมแสงได้ ทำให้บางจุดของพื้นที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นที่สะท้อนอยู่ในแอ่งรุนแรงกว่าจุดอื่น ๆ นอกจากนั้นโครงสร้างเปลือกโลกบริเวณภาคเหนือไปจนถึงภาคกลางของประเทศไทยมีความหนาลดลงจากทิศเหนือไปทางทิศใต้เอื้อให้คลื่นมีความสูงที่มากขึ้น เหมือนคลื่นน้ำที่จะมีความสูงมากขึ้นเวลาเคลื่อนที่จากบริเวณน้ำลึกไปบริเวณน้ำตื้น และตึกสูงของประเทศไทยอาจมีการสั่นพ้องกับการสั่นของคลื่นแผ่นดินไหว ทำให้ภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบและรู้สึกถึงแผ่นดินไหวได้ชัดเจน

และวิทยากรยังได้ตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากรอยเลื่อนสะกายในระยะเวลา 1 ปี ต่อจากนี้ โดยการคาดการณ์ความเป็นไปได้ 3 แบบ คือ 1) เกิดแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) แต่มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ซึ่งมีโอกาสมากที่สุด 2) เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นอีกซึ่งมีโอกาสน้อย หรือ 3) เกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนส่วนที่ยังไม่ได้ปลดปล่อยพลังงานซึ่งมีโอกาสน้อยมาก ๆ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง ส่วนในระยะ 10 ปี คาดว่าจะมีแผ่นดินไหวที่คนในประเทศไทยรู้สึกได้เกิดขึ้นอีก ซึ่งต้องย้อนกลับมาถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือภัยแผ่นดินไหว นอกจากนั้นยังชี้ให้ความเห็นถึงรอยเลื่อนอื่น ๆ ในประเทศไทย 16 จุด ซึ่งควรจะต้องมีการศึกษาและเฝ้าระวังต่อไป พร้อมทิ้งทายถึงความสำคัญของการวิจัยทางด้านธรณีฟิสิกส์ และการสื่อสารผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อสื่อสารกับสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนรับมือเพื่อป้องกันและจำกัดความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต

เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 3 เมษายน 2568