คณะวิทย์ ม.มหิดล เข้าร่วมงานวันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2567 พร้อมร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม

      18 – 19 พฤศจิกายน 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิฑูร แสงศิริสุวรรณ รองคณบดี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูวิศ อมาตยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ และ  ดร.มนัส ศรีหริ่ง นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง และหน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ เข้าร่วมงาน วันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2567 พร้อมร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

       โดยในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ได้มีการนำเสนอผลงานแก่ พลโท อุดม แก้วมหา ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และ พลเอก ไกรภพ ไชยพันธุ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก พร้อมทั้งคณะผู้บังคับบัญชา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการ รวมไปถึงนักเรียนนายร้อยที่เข้าชมนิทรรศการ

       และต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและทอดพระเนตรนิทรรศการวิชาการฯ ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินอย่างต่อเนื่องทุกปี ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วิฑูร แสงศิริสุวรรณ รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นผู้แทนสถาบันเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร พร้อมทั้งเป็นผู้ถวายของที่ระลึกแด่ พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งของถวายฯ คือ ต้นแบบหุ่นจำลองฮิบโปแคระ “หมูเด้ง” จากน้ำยางพาราที่พัฒนาให้มีผิวสัมผัสเหมือนผิวสิ่งมีชีวิตจริง

       ในครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการไปนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม ได้แก่ “การประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มเครื่องมือและโปรแกรมประมวลผลทางธรณีฟิสิกส์ในการตรวจจับความ ผิดปกติใต้ดิน” ผู้ยืนประจำบอร์ดนิทรรศการคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูวิศ อมาตยกุล าจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ โดยผลงานวิจัยเกี่ยวกับ การดำเนินการวิจัยด้านการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์เพื่อหาโครงสร้างใต้ผิวดินและศึกษาพฤติกรรมของโลก ทั้งในระดับตื้นและระดับลึก ด้วยเทคนิคทางไฟฟ้ากระแสตรง เทคนิคแม่เหล็กไฟฟ้า ตลอดจนวิทยาแผ่นดินไหว พบว่าหนึ่งในข้อจำกัดของการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ในประเทศไทยคือเครื่องมือที่ใช้มีราคาแพง และไม่ยืดหยุ่นต่อการประยุกต์ใช้งานในแบบต่าง ๆ กลุ่มวิจัยจึงได้เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบสำหรับการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาหัววัดทางฟิสิกส์ การพัฒนาแผงวงจรรวมและโปรแกรมฝังตัว ตลอดจนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการประมวลผลข้อมูลและการสร้างแบบจำลองทางฟิสิกส์ และกรอบการใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวิเคราะห์โครงสร้างใต้ดิน โดยแพลตฟอร์มนี้มีความยืดหยุ่นในการนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ เช่น การสำรวจและการตรวจติดตามโครงสร้างทางธรณีวิทยาและธรณีวิศวกรรม รวมถึงงานด้านความมั่นคง

       “จากวิทยาการดั้งเดิมสู่นวัตกรรม : วิวัฒนาการของการวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล” ผู้ยืนประจำบอร์ดนิทรรศการคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โดยผลงานวิจัยเกี่ยวกับ งานวิจัยที่จะช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจในเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกายมนุษย์ พร้อมกับให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความแปรผันเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการแพทย์เฉพาะบุคคล (personalized medicine) คณะวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้นำในการพัฒนาน้ำยารักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่สูตรธีล (Thiel embalming) โดยสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่และนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น แอมโมเนียมไนเตรต ทั้งยังคงสภาพความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อไว้ได้อย่างดีเยี่ยมเพื่อการศึกษาและการฝึกทำหัตการ นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคนิคการสร้างภาพจำลองแบบสามมิติ (3D reconstruction) เพื่อแสดงโครงสร้างของมนุษย์และศึกษาการเจริญเติบโตของตัวอ่อนมนุษย์และระบบต่าง ๆ ของร่างกาย

      “นวัตกรรมหุ่นยางพาราสำหรับฝึกหัดทางการแพทย์ Innovative Natural Rubber Model for Medical Practice Training” ผู้ยืนประจำบอร์ดนิทรรศการคือ  ดร.มนัส ศรีหริ่ง นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง และหน่วยวิจัยวัสดุและออกแบบสำหรับอุปกรณ์การแพทย์และสุขภาพ โดยผลงานวิจัยเกี่ยวกับ การพัฒนาหุ่นฝึกทางการแพทย์จากน้ำยางพาราเพื่อทดแทนหุ่นที่นำเข้า ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทนทานต่อการฉีกขาดได้ดีกว่า และยังเป็นวัสดุยั่งยืนที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักของประเทศ หุ่นฝึกนี้พัฒนาร่วมกับศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี (MIND) โดยใช้เทคนิคการหล่อน้ำยางในแม่พิมพ์ให้เกิดเป็นผิวหนังของหุ่น จากนั้นเทโฟมน้ำยางพาราเข้าไปในตัวหุ่นก่อนอบแห้ง ซึ่งสามารถทำการผลิตได้ง่าย มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีรูปลักษณ์รวมถึงผิวสัมผัสใกล้เคียงกับผิวมนุษย์ อีกทั้งสามารถปรับแต่งลักษณะทางกายภาพ เช่น สีผิว ความนิ่ม และความแข็งแรงเชิงกลได้ นอกจากนี้ ยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในตัวหุ่น เพื่อเพิ่มฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายตามความต้องการใช้งานได้อีกด้วย ปัจจุบัน มีการประยุกต์ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อพัฒนาต้นแบบและแม่พิมพ์สำหรับใช้ในการขึ้นรูปหุ่นให้มีรูปร่างที่หลากหลาย ซับซ้อน และสมจริงมากขึ้น

       โดยงานนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2567 ในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 17  ที่ได้มีสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและโครงงานจำนวนกว่า 99 ผลงาน จากทั้งหมด 32 หน่วยงาน ซึ่งในการจัดนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยของคณาจารย์และโครงงานวิจัยของนักเรียนนายร้อย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหมด้วยดีเสมอมา

เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567