2 สิงหาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมงานครบรอบ 40 ปี ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การสร้างกำลังคน พสวท. เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” โดยร่วมรับโล่เชิดชูเกียรติมหาวิทยาลัยศูนย์ พสวท. ออกบูธแนะนำมหาวิทยาลัย และนำเสนองานวิจัยเพื่อความยั่งยืน พร้อมส่งอาจารย์ และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทุน พสวท. ชั้นปีที่ 3 – 4 ร่วมการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2567 (DPSTcon 2024) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
งานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเปิดงาน โดยมี รองศาสตราจารย์ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวรายงานการจัดงานครบรอบ 40 ปี ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) โดยมีแขกผู้มีเกียรติ อาทิ อาจารย์ ดร.พรชัย อินทร์ฉาย รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ ประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้บริหารสถาบันการศึกษา และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมด้วยคณาจารย์ศิษย์เก่าทุน พสวท. และนักศึกษาร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดและพิธีมอบรางวัลอย่างคับคั่ง
ในโอกาสอันดีนี้ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี ได้เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดและรับโล่รางวัลมหาวิทยาลัยศูนย์ พสวท. พร้อมด้วยอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นบัณฑิต พสวท. ผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติเข้าสู่หอเกียรติยศ DPST Hall of Fame ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศิวพร มีจู สมิธ DPST Hall of Fame ประจำปี 2567 และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี DPST Hall of Fame ประจำปี 2563 เข้ารับเสื้อ DPST Hall of Fame จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นอกจากนั้นยังมีบูธแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจากคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ บูธวัสดุพลังงานสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งรวมนวัตกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell) และนวัตกรรมวัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี นำทีมวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และบูธ Flo Wolffia นวัตกรรมเพาะเลี้ยงวูฟเฟีย หรือ ผำ Super food จากพืชดอกที่เล็กที่สุดในโลก นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ร่วมงานในงานครั้งนี้ด้วย
และในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2567 (DPSTcon 2024) ซึ่งจัดขึ้นพร้อมกันนี้ ยังมีคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ร่วมเป็นคณะกรรมฝ่ายวิชาการ ให้คำแนะนำแก่นำศึกษาที่ร่วมจัดแสดงผลงานในสาขาคณิตศาสตร์และสถิติ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ธรณีวิทยา และวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมถึงคณะกรรมการฝ่ายประเมินและรายงานผล และมีนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ทุน พสวท. ระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 จำนวนกว่า 11 คน ร่วมนำเสนอผลงานทั้งแบบโปสเตอร์และแบบบรรยาย และนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 8 คน ร่วมชมการนำเสนอผลงานในสาขาต่าง ๆ อีกด้วย
งานครบรอบ 40 ปี ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) และการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2567 (DPSTcon 2024) ในครั้งนี้ จึงถือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ของทั้งอาจารย์และนักศึกษา เชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์ผลงานวิจัยดีเด่น หรือเป็นผู้นำในการบริหารและพัฒนางานวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างบัณฑิต พสวท. อาจารย์ และนักศึกษา ผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคต
เรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ,
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.),
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 2 สิงหาคม 2567