28 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีระดับสูงสําหรับพลังงานและความยังยืน (Advanced Technologies for Energy and Sustainability Lab) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเกี่ยวกับวัสดุ ‘เพอรอฟสไกต์ (Perovskite)’ สำหรับการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์เซนเซอร์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เข้ารับรางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2566 (Outstanding Young Materials Researcher Award) จากสมาคมวิจัยวัสดุประเทศไทย ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 4th Materials Research Society of Thailand International Conference (MRS-Thailand 2023) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 – 4 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ หรืออาจารย์ตั๋มของนักศึกษา มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นด้านวัสดุพลังงานและวัสดุที่เกี่ยวข้อง และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติหลายผลงาน เช่น พัฒนากระบวนการสร้างโซลาร์เซลล์แบบใหม่ โดยสามารถควบคุมการสร้างเพอรอฟสไกต์ (perovskite) ซึ่งเป็นชั้นดูดซับกักเก็บและเปลี่ยนพลังงาน แบบหลายชั้นต่อกันได้เป็นครั้งแรกของโลก ที่มีผู้อ่านกว่า 12 ล้านคน พัฒนาเทคโนโลยีเพอรอฟสไกต์สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับใช้ในอาคาร และผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมได้รับจดอนุสิทธิบัตร จำนวน 2 ฉบับ และกำลังรอผลการจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรเพิ่มเติมอีก 7 เรื่อง อีกด้วย
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : ธันฐภัทร์ บุญช่วย
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 2 มีนาคม 2566
จำนวนคนดู: 99