
สเปรย์ฟิล์มบาง ลดอุณหภูมิ กู้มหันตภัยโลกเดือด
เสวนาพิเศษ Mahidol Science Café 2024
“สเปรย์ฟิล์มบาง ลดอุณหภูมิ กู้มหันตภัยโลกเดือด”
โดยอาจารย์และนักวิจัยที่มีประสบการณ์ จาก Kanjanaboos Lab ของกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และศูนย์วัสดุลดความร้อนและประหยัดพลังงาน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ และสมาชิกศูนย์วัสดุลดความร้อนและประหยัดพลังงาน คณะวิทยาศาสตร์
นายปฐวี สักกะตะ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ และสมาชิกศูนย์วัสดุลดความร้อนและประหยัดพลังงาน คณะวิทยาศาสตร์
อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ
มาพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมา หลักการ วิธีคิด และความหวังในการพัฒนานวัตกรรมลดอุณหภูมิฝีมือคนไทย



สถานการณ์โลกเดือด ร้อนแล้ว ร้อนอยู่ ร้อนต่อ
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุณหภูมิของโลกที่ค่อย ๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าจะลดลงอย่างง่าย ทำให้ทุกพื้นที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น หากมองย้อนไปดูสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เทียบกับ ปี พ.ศ. 2566
จะเห็นได้ว่าอุณภูมิสูงสุดนั้นเพิ่มขึ้นถึง 1.7 องศาเซลเซียส และเฉลี่ยตลอด 13 ปี เพิ่มขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ก็ร้อนตามไปด้วย ผู้คนที่อยู่อาศัยในบ้านต่างพยายามคลายร้อนด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พัดลม เครื่องปรับอากาศ หรือการออกแบบบ้านให้ถ่ายเทอากาศได้ดี ให้ลมพาความร้อนออกไป ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการถ่ายโอนความร้อนตามหลักฟิสิกส์ที่เราพบเห็นได้ทั่วไปนั่นเอง
ตามหลักฟิสิกส์การถ่ายโอนความร้อนแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
– การพาความร้อน เช่น การที่ลมพัดความร้อนออกไปทำให้อุณหภูมิลดลง
– การนำความร้อน เช่น การที่เราจับด้ามจับของหม้อต้มน้ำร้อนแล้วรู้สึกร้อน
– การแผ่ความร้อน เช่น ความร้อนที่ได้รับจากการนั่งล้อมวงกันผิงกองไฟ การแผ่ความร้อนจากดวงอาทิตย์
ดังนั้น หากเราต้องการจะลดอุณหภูมิภายในบ้าน ตามหลักการถ่ายโอนความร้อน รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ได้ให้คำแนะนำ 3 ข้อ ที่ช่วยจะลดอุณหภูมิอาคารได้ดีที่สุด นอกเหนือจากระบบปรับอากาศ คือ
1. ทำให้ความร้อนเข้ามาน้อยที่สุด เช่น ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนความร้อน ใช้วัสดุสีขาวหรือวัสดุที่ช่วยสะท้อนแสง
2. กำจัดความร้อนออกไปโดยการพาความร้อน เช่น การระบายอากาศ การออกแบบให้มีช่องทางลม
3. กำจัดความร้อนออกไปโดยแผ่รังสีความร้อน เช่น ใช้วัสดุหลังคาที่สามารถแผ่ความร้อนในช่วงคลื่นอินฟราเรดช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร
ลดความร้อนแบบใหม่ ด้วยการแผ่ความร้อนสู่อวกาศโดยตรง
ตามธรรมชาติแล้ววัตถุต่าง ๆ สามารถแผ่ความร้อนได้ ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ โลกก็เช่นกัน โลกสามารถระบายความร้อนบางส่วนที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ออกไปสู่อวกาศโดยตรงได้ เพื่อไม่ให้โลกร้อนจนเกินไป
ด้วยการแผ่ความร้อนในช่วงคลื่นอินฟราเรดที่มีความยาว 8 – 13 ไมโครเมตร จากพื้นโลกผ่านชั้นบรรยากาศ
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกช่วงคลื่นนี้ว่า atmospheric window เปรียบเทียบเหมือนกับโลกแง้มประตูหน้าต่างระบายความร้อนเอาไว้
หากในชั้นบรรยากาศมีก๊าซที่สามารถดูดกลืนคลื่นอินฟราเรดช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร มากเกินไป ก็จะทำให้ช่วงหน้าต่างนี้แคบลง โลกก็จะระบายความร้อนได้น้อยลง เกิดเป็นปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนนั่นเอง

วัสดุแบบที่ใช่ แผ่ความร้อนออกไปได้มากที่สุด
เมื่อเรารู้แล้วว่าโลกเปิดช่องระบายความร้อนไว้ให้ แล้ววัสดุแบบไหนบนพื้นโลกที่แผ่ความร้อนออกมาในช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร พอดี รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ ได้เผยว่า
บนโลกของเราวัสดุที่แผ่ความร้อนออกมาในช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร ได้ค่อนข้างดีและมีปริมาณมาก คือ ทราย น้ำ และเซลลูโลส
ดังนั้น หากเราจะลดอุณหภูมิพื้นผิว เราสามารถใช้ 3 สิ่งนี้หรือวัสดุอื่น ๆ ที่แผ่ความร้อนออกมาในช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร มาพัฒนาต่อให้เป็นวัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีได้
โดยวิธีในการพัฒนาวัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีให้มีประสิทธิภาพมี 3 วิธี ได้แก่
1. ใช้วัสดุที่แผ่รังสีในช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร ได้ดี
2. เติมสารเพิ่มความสามารถในการแผ่ความร้อนไปในวัสดุที่แผ่ความร้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
3. ทำให้พื้นผิวของวัสดุมีลวดลายขนาด 8 – 13 ไมโครเมตร เพื่อให้สามารถกระเจิงรังสีความร้อน (scattering) ในช่วง 8 – 13 ไมโครเมตร ได้ดี และเกิดการแผ่ความร้อนจากวัสดุตามหลักฟิสิกส์

ทำไมต้องเป็นสเปรย์
เดิมทีการพัฒนาพื้นผิวของวัสดุให้มีอนุภาคขนาด 8 – 13 ไมโครเมตร นั้นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และมีราคาแพง จากประสบการณ์ของนักวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ทำการทดสอบวัสดุลดความร้อนให้กับเอกชน และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีฟิล์มบาง รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ และนักศึกษาระดับปริญญาเอก นายปฐวี สักกะตะ มองว่าสิ่งที่ตอบโจทย์ในการสร้างอนุภาคขนาดที่ต้องการได้ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนต่ำ คือ การสเปรย์
เท่านั้น
เพราะการสเปรย์สามารถทำให้เกิดขนาดอนุภาค และลวดลายที่หลากหลาย ทั้งยังสามารถเคลือบพื้นผิวของวัสดุได้หลากหลายประเภท และสามารถที่จะปรับเปลี่ยนสารลดความร้อนให้เหมาะสมกับพื้นผิวต่าง ๆ ได้ด้วย
เช่น แก้ว กระจก แผ่นโลหะ แผ่นไม้ ปูน กระเบื้องหลังคาที่มีลักษณะเป็นคลื่น ซึ่งต่างจากสินค้าในตลาดที่เหมาะกับวัสดุผิวเรียบ เช่น แก้ว กระจก และวัสดุหลังคาแบบเรียบเพียงเท่านั้น
ทางเลือกใหม่ที่ถูกกว่าและใช้ได้กับทุกวัสดุ
นายปฐวี สักกะตะ ได้อธิบายถึงการทดลองสเปรย์สารละลายโดยใช้ Air Brush และ Spray Gun เพื่อให้ได้ละอองอนุภาคขนาด 8 – 13 ไมโครเมตร บนพื้นผิววัสดุว่า ขึ้นอยู่กับความดัน ความเร็วในการสเปรย์ อัตราการไหลของสเปรย์ โดยจะต้องจำกัดปัจจัยเหล่านี้อย่างเหมาะสมจึงจะได้ขนาดละอองที่ต้องการ ซึ่งผลการทดลองพบว่า
หากเราควบคุมอัตราการไหลของภายใน Air Brush และ Spray Gun ให้ต่ำ และพ่นสเปรย์อย่างรวดเร็ว ทำให้ได้อนุภาคขนาด 8 – 13 ไมโครเมตร ดีที่สุด

ด้วยวิธีนี้ นอกจากจะได้อนุภาคขนาดที่ต้องการแล้ว ยังทำให้วัสดุมีคุณสมบัติ Self-Cleaning ที่ดีขึ้น เวลาที่มีน้ำหยดลงมาก็จะกลิ้งเป็นหยดมากกว่าวัสดุเดียวกันที่ไม่ถูกเคลือบ ทำให้วัสดุสะอาดได้ยาวนานกว่า
และเมื่อทดลองสเปรย์เคลือบบนตัววัสดุชนิดต่าง ๆ เพื่อทดสอบความสามารถของสเปรย์ในการสามารถเคลือบพื้นผิวพบว่า ตัววัสดุที่ผ่านการฉีดพ่นด้วยสเปรย์ สามารถที่จะลดความร้อนได้แตกต่างกันไป ตามผลดังนี้
แก้ว ลดความร้อนโดยเฉลี่ยได้ 0.84 องศาเซลเซียส
กระจก ลดความร้อนโดยเฉลี่ยได้ 0.82 องศาเซลเซียส
แผ่นโลหะ ลดความร้อนโดยเฉลี่ยได้ 0.25 องศาเซลเซียส
แผ่นไม้ ลดความร้อนโดยเฉลี่ยได้ 2.20 องศาเซลเซียส
ปูน ลดความร้อนโดยเฉลี่ยได้ 1.03 องศาเซลเซียส
กระเบื้องหลังคา ลดความร้อนโดยเฉลี่ยได้ 1.21 องศาเซลเซียส

ลดความร้อน ประหยัดพลังงาน ช่วยเราช่วยโลก
หากเราใช้สเปรย์ลดอุณหภูมิเคลือบกระเบื้องมุงหลังคาแล้วบ้านจะเย็นลงกี่องศา นายปฐวี สักกะตะ ได้นำเอาวัสดุที่เคลือบด้วยสเปรย์ฟิล์มบางไปใส่ในกล่องไม้สี่เหลี่ยมที่มีการระบายความร้อนได้น้อย เทียบกับกล่องที่ระบายอากาศได้ดี โดยจำลองตำแหน่งให้เหมือนหลังคา และวัดอุณหภูมิในกล่องที่จำลองเป็นพื้นที่ภายในบ้าน พบว่า
เมื่อเทียบกับการใช้วัสดุเดียวกันที่ไม่ถูกเคลือบ วัสดุที่เคลือบด้วยสเปรย์ฟิล์มบางสามารถลดอุณหภูมิภายในกล่องที่ระบายอากาศได้น้อย เฉลี่ยสูงถึง 3.94 องศาเซลเซียส เลยทีเดียว
และเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในท้องตลาดที่มีความสามารถในการลดความร้อน โดยใช้หลักการแผ่รังสีความร้อนเหมือนกันแล้ว วัสดุเคลือบด้วยสเปรย์ฟิล์มบางสามารถที่จะลดความร้อนได้ใกล้เคียงและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสินค้าในท้องตลาด
อีกทั้งยังได้เปรียบในด้านของต้นทุนวัสดุที่ถูกกว่า ไปจนถึงการขึ้นรูปที่ง่าย การขนส่งที่สะดวก ไปจนถึงทำการตลาดสินค้าที่ทำให้คนทั่วไปมีโอกาสเปิดใจยอมรับได้ง่ายกว่า และลดปริมาณการใช้สารเคมีได้มากกว่า 10 – 100 เท่า เพราะสามารถเคลือบบาง ๆ ได้
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ กล่าวว่า ถ้าเราลดอุณหภูมิของอาคารลงเพียง 1 – 2 องศาเซลเซียส โดยการใช้วัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีที่ถูกพัฒนาขึ้น จะลดการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศได้ 10 – 20 เปอร์เซ็นต์
ในประเทศไทย 50 – 80 เปอร์เซ็นต์ ของค่าไฟฟ้าแต่ละบ้าน เป็นค่าไฟฟ้าเพื่อปรับอากาศ ดังนั้น ถ้านวัตกรรมนี้ถูกนำไปใช้จริง จะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าในครัวเรือนถึง 5 – 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
ยกตัวอย่าง
บ้าน 1 หลัง มีพื้นที่หลังคา 50 ตารางเมตร
ใช้วัสดุระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีราคา 50 บาทต่อตารางเมตร
ราคารวม 2,500 บาทต่อหลัง
สมมุติว่าค่าไฟฟ้าต่อเดือนอยู่ที่ 2,500 บาทต่อเดือน
และนวัตกรรมนี้ประหยัดค่าไฟได้ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 250 บาทต่อเดือน
การติดตั้งนวัตกรรมนี้จะคืนทุนในระยะเวลาน้อยกว่า 1 ปี
หลังจากนั้น เจ้าของบ้านจะประหยัดค่าไฟฟ้า 5 – 15 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อวางจำหน่ายในตลาด
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ เผยว่า ขณะนี้ นวัตกรรมสเปรย์ลดอุณหภูมิมีระดับความพร้อมของเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรม (Technology Readiness Level: TRL) อยู่ในระดับ 6 จาก 9 ระดับ โดยมีการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ และทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีความละเอียดสูงแล้ว ซึ่งทีมวิจัยวางแผนจะขยายขอบเขตการทดสอบภาคสนาม และศึกษาคุณสมบัติทางวิศวกรรมศาสตร์อื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ มองว่า การผลักดันนวัตกรรมเพื่อให้ใช้ได้จริง ยิ่งระดับสูงขึ้นจะยิ่งมีความยาก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนจึงจะสำเร็จได้ ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ และกำลังอยู่ระหว่างการก่อตั้งบริษัท Startup ชื่อ Passi-Cool เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงกำลังมองหาภาคเอกชนเพื่อทดสอบและพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน โดยทีมวิจัยมีความมุ่งมั่นจะพัฒนานวัตกรรมนี้ให้สำเร็จ เพื่อสร้างนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มการแข่งขันกับต่างประเทศในอนาคต
สำหรับผลงานวิจัย “กรรมวิธีการขึ้นรูปฟิล์มบางระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีด้วยการฉีดพ่น” ที่ทีมวิจัยพัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ (THEP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมสเปรย์ลดอุณหภูมินั้น ได้ถูกตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการนานาชาติระดับ Top3% สาขา engineering ที่มีค่า impact factor สูงถึง 8.9 ชื่อผลงาน “Radiative cooling film enabled by droplet-like infrared hot spots via low-cost and scalable spray-coating process for tropical regions” โดยถูกตอบรับให้ตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้ที่มีความสนใจผลงานอื่น ๆ ของ รองศาสตราจารย์ ดร. พงศกร กาญจนบุษย์ ที่ดำเนินการร่วมกับทีมวิจัยและนักศึกษา สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/KanjanaboosLab และช่องทางเว็บไซต์ของ ม.มหิดล
https://mahidol.elsevierpure.com/en/persons/pongsakorn-kanjanaboos
และสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/rFSIPQoMT3/
หรือติดตามอ่านบทความสรุปเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจในหัวข้ออื่น ๆ ได้ทาง https://science.mahidol.ac.th/simple-science/