Blood Moon Party ☾

เสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ตอน Blood Moon Party: ลอยกระทงไม่เหงา เพราะเรามาดูจันทรุปราคาด้วยกัน

Mahidol Science Café Blood Moon Party ☾ ลอยกระทงไม่เหงา เพราะเรามาดูจันทรุปราคาด้วยกัน
Mahidol Science Café Blood Moon Party ☾ ลอยกระทงไม่เหงา เพราะเรามาดูจันทรุปราคาด้วยกัน

โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์อวกาศ อาทิ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

อาจารย์ ดร.เพชระ ภัทรกิจวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ
อาจารย์ ดร.เพชระ ภัทรกิจวานิช

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้อธิบายเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ว่า “จันทรุปราคา” เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางและดวงจันทร์จะโคจรเข้ามาในเงาของโลก ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะเข้ามาใน “เงามัว” (penumbra) ของโลก โดยความสว่างของดวงจันทร์ลดลงไม่มากจากปกติจึงยากจะสังเกตเห็นความแตกต่าง จากนั้นดวงจันทร์ทั้งดวงจะเข้าไปใน “เงามืด” (umbra) ของโลก โดยความสว่างของดวงจันทร์จะลดลงมาก

ซึ่งในช่วงเวลานี้เราจะสังเกตเห็น ดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกเกิดการหักเหที่ชั้นบรรยากาศของโลกทำให้แสงสีฟ้ากระเจิงออกออกไปเหลือเพียงสีแดง เมื่อแสงนี้ตกกระทบกับดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังโลกอีกครั้ง เราจึงเห็นจันทรุปราคาเป็นสีแดงในทำนองเดียวกันกับที่เราเห็นพระอาทิตย์เป็นสีแดงเมื่อใกล้ลับขอบฟ้า

ภาพสุริยุปราคา

ขณะที่สุริยุปราคานั้น เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง และโลกจะโคจรเข้ามาในเงาของดวงจันทร์ ทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์มีแสงมืดลงนั่นเอง

ส่วนสาเหตุว่าทำไมจึงไม่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาทุกเดือน เนื่องจากเมื่อเราพิจารณาดูระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และระนาบวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกแบบ 3 มิติ จะพบว่าระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ทำมุมกับระนาบของโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ 5 องศา เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์มาโคจรมาอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน คือเส้นที่ระนาบของวงโคจรทั้ง 2 ตัดกันจะเกิดเงามืดขึ้นได้ 

โอกาสเกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคา หรือที่เรียกว่า Eclipse seasons จะอยู่ที่ประมาณ 2 ครั้งต่อปี

โดยแต่ละครั้งจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา ประมาณ 2 – 3 ครั้ง ในช่วง 31 – 37 วัน

ก่อน 17:59 น.

ช่วงแรกของปรากฏการณ์

เกิดขึ้นใต้เส้นขอบฟ้าเราจึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จากนั้นเมื่อดวงจันทร์เริ่มขึ้นเหนือขอบฟ้าเราจึงสามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาเต็มดวง

17:59 น.

ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ลึกที่สุดในเงามืด (greatest eclipse)

18:41 น.

เริ่มออกจากเงามืดบางส่วน (third umbral contact)

เป็นการสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วน

19:49 น.

ออกจากเงามืดทั้งดวง (fourth umbral contact)

20:56 น.

สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคา

ออกจากเงามัวแล้วกลับมาสว่างเต็มดวงตามปกติเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคา

 ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงส่งท้ายปี พ.ศ. 2565 ก่อนที่เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาได้ในพื้นที่ประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี เพราะขณะที่เกิดปรากฏการณ์ เวลาท้องถิ่นที่ประเทศไทยจะเป็นกลางวันทั้งหมด โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่สามารถสังเกตเห็นได้จากประเทศไทยครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นตรงกับคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2568