ตามที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดจัดงานมหกรรมคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2562 “ปัญญามหิดล คุณภาพคน คุณภาพงาน” ในหัวข้อ “Innovative Organization : องค์การแห่งนวัตกรรม” ในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรมหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องการพัฒนาคุณภาพงานและการสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร โดยผลงาน “การจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานในรายวิชาวิทยาแบคทีเรีย : กรณีศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัย” ได้รับรางวัล Innovative Teaching Award โดยมีรายละเอียดของที่มาและความสำคัญ ดังนี้
วิธีการการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่มีอาจารย์บรรยายหรือสาธิตเทคนิคทางปฏิบัติการหน้าชั้นเรียนนั้นมักจะมีปัญหาเรื่องความรู้พื้นฐานของนักศึกษาแต่ละคนก่อนเข้าชั้นเรียนที่ไม่เท่ากัน และความไม่พร้อมของนักศึกษาบางคนเมื่อเริ่มเข้าสู่บทเรียน ทำให้นักศึกษาทุกคนไม่สามารถตามเนื้อหาที่ อาจารย์บรรยายหรือสอนเทคนิคปฏิบัติการได้ โดยเฉพาะรายวิชาที่มีเนื้อหาเฉพาะด้านค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าจะแจ้งให้นักศึกษาทราบล่วงหน้าแล้วว่า หัวข้อที่จะสอนคืออะไร ต้องเตรียมตัวมาอย่างไร แต่ไม่สามารถชักจูง นักศึกษาทุกคนให้เตรียมตัวมาได้ เมื่ออาจารย์บังคับให้ค้นคว้าหาความรู้ก็เป็นเรื่องยากสำหรับนักศึกษาที่ไม่เคยทำมาก่อนและสุดท้ายนำมาซึ่งความไม่ชอบ ไม่สนใจในเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ
สาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือ นักศึกษาไทยเคยชินกับกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมนี้มาตลอด ทั้งการเรียนการสอนในระดับมัธยม การติว เนื้อหาเข้มข้นในการสอบแข่งขัน โดยที่ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก่อนเข้าชั้นเรียน มารับข้อมูลความรู้แล้วนำกลับไปท่องจำ เลียนแบบ แล้วทำให้สอบผ่าน จึงทำให้ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่อาจารย์ตั้งไว้ ตัวอย่างเช่น ในรายวิชาวิทยาแบคทีเรีย หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มักได้รับผลการประเมินรายวิชาจากนักศึกษาในแต่ละปีว่ามีเนื้อหาที่มากเกินไป เวลาเรียนไม่พอ แต่เนื้อหาสำคัญต่อการเรียนต่อไปในอนาคต การลดเนื้อหาลงหรือการเพิ่มจำนวนหน่วยกิตอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้าลดเนื้อหาลงก็จะทำให้นักศึกษามีปัญหาในรายวิชาที่สูงขึ้น เนื่องจากมีความรู้พื้นฐานที่ไม่เพียงพอ การเพิ่มหน่วยกิตคือการเพิ่มภาระเวลาให้นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมของหลักสูตรฯ จากผลการประเมินรายวิชาจากอาจารย์ผู้สอน ทำให้พบปัญหาที่เป็นผลจากวิธีการการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมนี้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเรียนรู้ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เน้นการค้นคว้าหาความรู้ ด้วยตนเองได้ รวมถึงวิถีชีวิตของคนในสังคมยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ จำเป็นต้องท่องหรือจดจำเนื้อหาความรู้มากๆ ไว้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือการทำงานในแต่ละวัน
แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้คือต้องปรับวิธีการการเรียนการสอนใหม่ ในรายวิชานี้เราใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “Edutainment-assisted Blended Learning: a Transformative Change to Life-Long Learning and Beyond” โดยสร้างชุดกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสาน (blended learning) มาใส่ในกรอบเวลาการจัดการ เรียนการสอนแบบ instructor-paced และเพิ่มแนวทางการสอนแบบสื่อบันเทิง (Edutainment) มาปรับใช้ในการเรียนการสอนของรายวิชานี้ มีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาปรับเปลี่ยนวิธีการการเรียนรู้เพื่อศึกษาเรื่อง วิทยาแบคทีเรียเป็นแบบ virtually life-long learning มีการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการเรียนทั้ง ภาคทฤษฎีและบทปฏิบัติการ ซึ่งจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ให้กว้างและลึกขึ้นจนสามารถประยุกต์ใช้ใน ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ในชั้นเรียนที่สูงขึ้น หรือหัวข้อโจทย์วิจัยและอาชีพในอนาคตได้ อีกทั้งยังฝึกให้ นักศึกษาจัดสรรเวลาในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย วิชานี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณลักษณะบัณฑิตของมหาวิทยาลัย MU Graduates Attributes ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านที่ 2 Excellence in Outcome - based Education for Globally Competent Graduates มหาวิทยาลัยมหิดลได้ด้วย
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นกรณีศึกษาจากการให้นักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขา เทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้เรื่องวิทยาแบคทีเรียเป็นแบบ virtually life-long learning โดยมีเครื่องมือที่ใช้ คือ ชุดกระบวนการเรียนรู้ Edutainment-assisted Blended Learning โดยจัดทำเป็นคลิปวิดีโอการเรียนรู้เชิงบันเทิงผ่านระบบ MUX-SPOC พร้อมทำบททดสอบก่อนเข้าชั้นเรียน ผลการศึกษาพบว่า ชุดกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวมีส่วนช่วยให้นักศึกษาพัฒนาตนเองอย่างมากและต่อเนื่องจนเห็นภาพของการเรียนรู้แบบ lifelong learning ได้ชัดเจนขึ้น ด้านผลการเรียนพบว่า เมื่อใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน นักศึกษารุ่นที่เรียนผ่านชุดกระบวนการนี้มีผลคะแนนสอบเฉลี่ย คะแนนต่ำสุดและคะแนนสูงสุด สูงกว่านักศึกษารุ่นที่ผ่านมา แต่ผลการประเมินรายวิชาไม่แตกต่างกัน เนื่องจากอยู่ในระดับที่ดีมากอยู่แล้ว
ดังนั้นรายวิชานี้จึงตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเรียนรู้แบบออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อีกทั้งผู้เรียนและผู้สอนสามารถร่วมกันพัฒนาแผนการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง จนบรรลุเป้าหมายของรายวิชา หลักสูตร และนำไปสู่การสร้างคุณลักษณะบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดล MU Graduates Attributes ต่อไป
สรุปผลการศึกษา พบว่า
- จากการประเมินโดยนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน พบว่ามีส่วนช่วยให้นักศึกษาพัฒนาตนเองอย่างมากและต่อเนื่อง ทั้งนี้นักศึกษาที่ได้เรียนต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ การที่ทำให้เนื้อหาวิชาน่าเรียนมากขึ้นแม้ว่าจะมีเนื้อหาที่ยากและเยอะมาก แต่เข้าใจถึงความสำคัญขององค์ความรู้พื้นฐานเพื่อนำไปต่อยอดเป็นงานวิจัยหรือนวัตกรรมได้ อีกทั้งนักศึกษายังได้ฝึกทักษะทางปฏิบัติการ พื้นฐานที่จำเป็นและนำไปประยุกต์ใช้ได้มากกว่าการเรียนบรรยายเพียงอย่างเดียว อยากให้มีการเรียนการสอนผ่านรูปแบบนี้มากขึ้น พัฒนาบทเรียนให้มีรายละเอียดเนื้อหาสนุกขึ้น และประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่นๆ ต่อไป
- จากการประเมินโดยอาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาแบคทีเรีย พบว่า รายวิชานี้เป็นวิชาที่มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับชั่วโมงสอน ดังนั้นชุดกระบวนการเรียนรู้ Edutainment-assisted Blended Learning จะช่วยให้การเรียนในห้องเรียนง่ายขึ้นเมื่อนักศึกษาได้ เรียนรู้เนื้อหาเบื้องต้นมาก่อนเข้าห้องเรียนและยังเป็นการประตุ้นให้นักศึกษาตั้งคำถามและค้นคว้าหาคำตอบ ด้วยตนเอง การใช้คลิปวิดีโอผ่านสื่อออนไลน์และสร้างเรื่องราวที่เป็นตัวอย่างมาสอดแทรก ทำให้เกิดความน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น นักศึกษาที่เรียนจะไม่เบื่อกับเนื้อหาที่ต้องดูแบบเดิมๆ แต่กลับต้องคิด วิเคราะห์ และติดตามดูในทุกคาบเรียนต่อไปจนกระทั่งจบรายวิชา และเมื่อเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ จึงสามารถได้รับ Feedback จากการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาได้เป็นระยะ จึงทำให้สามารถพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไขปัญหาได้ตลอดช่วงเวลาการเรียนรู้ ส่วนในห้องปฏิบัติการ นักศึกษาจะเห็นภาพของการทำการทดลองมาก่อน จึงทำให้ง่ายต่อทั้งอาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาที่ลงมือทดลองได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และ ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งนักศึกษาจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวกับเนื้อหาวิชาอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผลลัพธ์จาก flipped classroom โดยให้นักศึกษาหาความรู้เพื่อมาถ่ายทอดให้กับอาจารย์และเพื่อนๆ พบว่าการนำเสนอทั้งหมดไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น แต่เป็นการเล่นเกมส์ แสดงละคร ร้องเพลง ทำให้ผู้สอนได้รับทราบถึงแนวทาง และรูปแบบที่นักศึกษาสนใจในกระบวนการเรียนรู้ สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในอนาคตได้
วิชานี้เป็นวิชาแรกที่พัฒนาในระบบ MUX-SPOC และช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ในแบบต่างๆ มากขึ้น เพิ่มความสะดวกของภาระงานแก่อาจารย์ผู้สอนได้เป็นระบบดีขึ้น เข้าถึงนักศึกษาได้ง่ายขึ้น ติดตามความก้าวหน้าและสามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าใจและพัฒนาแผนการเรียนรู้ระหว่างการเรียนการสอนได้ดีขึ้น นักศึกษาสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ผลงานวิจัยของอาจารย์ผู้สอนได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย อันนำไปสู่การเรียนต่อหรือต่อยอดงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ประโยชน์ที่หลักสูตร/ภาควิชาได้รับ
1. ช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ในแบบต่างๆ มากขึ้น และอำนวยความสะดวกของภาระงานแก่อาจารย์ผู้สอนได้เป็นระบบดีขึ้น เข้าถึงนักศึกษาได้ง่ายขึ้น ติดตามความก้าวหน้าและสามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเข้าใจ และพัฒนาแผนการเรียนรู้ระหว่างการเรียนการสอนได้ดีขึ้น
2. นักศึกษาสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ผลงานวิจัยของอาจารย์ผู้สอนได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย อันนำไปสู่การเรียนต่อหรือต่อยอดงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ประโยชน์ที่คณะได้รับ
1. การเรียนการสอนออนไลน์เป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้แบบพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในตลอดเวลา นักศึกษาจะมีศักยภาพในการเรียนรู้มากขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจเนื้อหา คิด ค้นคว้า วิเคราะห์ และประยุกต์องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จนมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาทั้งในชีวิตประจำวันและปัญหาวิจัยที่ท้าทายอย่างเป็นระบบ
2. อาจปรับใช้เป็นวิชาให้นักศึกษานอกสายวิชาชีพได้เลือกเรียนหรือบุคคลภายนอก สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรีย เช่น บุคลากรในโรงพยาบาลและใน โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคให้ทันสมัยมากขึ้น
ประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยได้รับ
1. การเรียนการสอนออนไลน์เป็นนโยบายที่ตอบสนองปณิธานของมหาวิทยาลัยในการเป็นปัญญาของแผ่นดิน
2. มีการถ่ายทอดงานวิชาการให้น่าสนใจ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาและประชาชนได้ อัน แสดงถึงศักยภาพของระบบการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างคุณลักษณะตาม MU Graduates Attributes ต่อไป
https://www.facebook.com/MahidolSC/posts/10156837433517267