Mahidol Science Cafe Vol.2: Nobel Prize in Physiology or Medicine: From Heat & Hug to Pain treatment discoveries. การค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการรับสัมผัส สู่การนำไปใช้ในการรักษาอาการปวด

3 พฤศจิกายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe Vol.2: Nobel Prize in Physiology or Medicine: From Heat & Hug to Pain treatment discoveries. การค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการรับสัมผัส สู่การนำไปใช้ในการรักษาอาการปวด เล่าเรื่องงานวิจัยของ 2 นักวิทยาศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปีนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ เดวิด จูเลียส (David Julius) และศาสตราจารย์ อาร์เด็ม พาทาพูเที่ยน (Ardem Patapoutian) พร้อมอธิบายถึงกลไกการรับอุณหภูมิและสัมผัสของมนุษย์ที่น่าทึ่งอันนำไปสู่การรักษาอาการปวด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร จงกมลวิวัฒน์ และ อาจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 40 คน
ตลอดการเสวนาวิทยากรได้เล่าประวัติโดยย่อของผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้ง 2 ท่าน และอธิบายเกี่ยวกับงานวิจัยของผู้ได้รับรางวัลโนเบล เสริมด้วยเกร็ดความรู้เรื่องของการเจ็บปวดกับการอยู่รอดที่ว่าทำไมเมื่อเจ็บเราถึงร้องไห้หรือส่งเสียงร้อง ตัวรับสัมผัสที่ไวต่อแก๊สน้ำตา ไปจนถึงตัวรับสัมผัสที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมแปลกประหลาดของแพนด้า พร้อมอธิบายถึงหลักการที่ร่างกายรับรู้ความเจ็บปวดและการสัมผัสอย่างง่าย ต่อด้วยคุณประโยชน์การค้นพบตัวรับสัมผัสและกลไกการทำงานของระบบประสาทที่สามารถขยายผลไปสู่การพัฒนายาระงับอาการปวด และวิธีการรักษาอาการปวดให้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร จงกมลวิวัฒน์ ได้เล่าถึงประวัติโดยย่อและงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ เดวิด จูเลียส นักสรีรวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก ผู้ค้นพบตัวรับสัมผัส TRPV1 ที่เป็นตัวรับความเจ็บปวดหรือความเผ็ดร้อน และ ศาสตราจารย์ อาร์เด็ม พาทาพูเที่ยน นักประสาทวิทยาและชีววิทยาระดับโมเลกุลจากสถาบันวิจัยสคริปส์ของสหรัฐฯ ผู้ค้นพบตัวรับสัมผัส Piezo ที่เป็นตัวรับแรงกด พร้อมกันนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงผลงานและการทดลองที่ทำให้เกิดการค้นพบตัวรับความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและตัวรับแรงกดนี้ รวมทั้งกล่าวถึงกลไกการรับรู้ความเจ็บปวดและการสัมผัสว่าตัวรับนี้จะส่งสัญญาณไปยังสมองส่วน parietal cortex ที่อยู่ค่อนไปทางด้านหลัง ซึ่งระดับการรับรู้ความเจ็บปวดของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความเจ็บปวดที่แตกต่างกันของแต่ละคน และเสริมถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างตัวรับสัมผัส TRPA1 ที่ไวต่อแก๊สน้ำตาว่า มีอยู่มากที่บริเวณผิวของเยื่อบุดวงตาและกระจายอยู่ทั่วไปตามผิวหนัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อาจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ เกี่ยวกับพฤติกรรมการพอกขี้ม้าสดของแพนด้าที่ไปยับยั้งตัวรับสัมผัส TRPM8 หรือตัวรับความเย็น ซึ่งอาจส่งผลให้แพนด้าสามารถอพยพย้ายถิ่นได้ไกลขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ อาจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับเกร็ดความรู้เรื่องของการเจ็บปวดกับการอยู่รอดว่า เป็นกลไกในการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ช่วยเหลือตนเองยังไม่ได้เมื่อรู้สึกเจ็บแล้วร้องไห้หรือส่งเสียงร้องจะทำให้ผู้ใหญ่สนใจมาดูแล และยังมีผลการศึกษามาก่อนหน้านี้ด้วยว่าเมื่อคนเราเห็นคนอื่นร้องไห้จะทำให้ร่างกายหลั่งสารออกซิโทซิน (Oxytocin) สร้างความรักความผูกพันระหว่างกันขึ้นมา และทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันด้วย นอกจากนั้น ยังเล่าถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เรื่องตัวรับสัมผัสกับกลไกการทำงานของแขนเทียม (prosthetic arm) ให้สามารถรับสัมผัสได้ในประเทศจีน ซึ่งมีความท้าทายในการพัฒนาให้ผู้สวมใส่ได้รับสัมผัสที่สมจริงต่อไป

ในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรและผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงการขยายผลการค้นพบตัวรับสัมผัสและกลไกการทำงานของระบบประสาทไปสู่การพัฒนายาระงับอาการปวดว่า ปัจจุบันเราใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs และยาชาเฉพาะที่ แต่ในอนาคตเราอาจจะมียาระงับปวดซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาชาเฉพาะที่ หรือวิธีการรักษาอาการปวดให้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน หรืออาการไมเกรนได้ และฝากทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจในวิทยาศาสตร์ว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมต้อนรับผู้ที่มีความหลงใหลในวิทยาศาสตร์เสมอ และได้ให้มุมมองต่อการทำงานเรียนวิทยาศาสตร์และทำงานวิจัยว่า การประสบความสำเร็จนั้นอาจจะพบกับอุปสรรคมากมาย นอกจากจะต้องมีความพยายาม ความรู้ความสามารถแล้ว ขอให้มีความหลงใหลในสิ่งที่เรียนและสิ่งที่ทำ มีกรอบแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) มีความพยายาม สามารถนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเชื่อมโยง นำสู่องค์ความรู้ แนวคิด ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

Recommended Posts