Mahidol Science Café ส่องแนวคิดเบื้องหลังการวิจัยฟิสิกส์อวกาศของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
- January 18, 2021
- 11 minutes
ตลอดการเสวนา Professor Dr. David หรืออาจารย์เดวิดของนักศึกษา ได้เล่าถึงความสำคัญของการศึกษารังสีคอสมิก และสภาพอวกาศ ก่อนจะนำเสนองานของทีมวิจัยในปัจจุบันและผลงานวิจัยเด่นที่ผ่านมา ต่อด้วยงานของทีมวิจัยในอนาคต รวมถึงความตั้งใจแรกและแนวคิดในการทำงานที่ยืดมั่นมาตลอดการขับเคลื่อนวงการวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศในประเทศไทยกว่า 33 ปี
ที่ผ่านมาอาจารย์เดวิดมีผลงานเด่นด้านฟิสิกส์อวกาศมากมาย อาทิ สร้างกลุ่มวิจัยที่ผลิตผลงานด้านทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิกมายังโลกท่ามกลางความปั่นป่วนของลมสุริยะ การเร่งอนุภาคที่คลื่นกระแทกจากพายุสุริยะ และวิธีบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกมาถึงโลกและส่งผลกระทบทางสภาพอวกาศต่อกิจกรรมของมนุษย์ การติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์ เพื่อวัดอนุภาคและพลังงานของรังสีคอสมิกต่อเวลา รวมทั้งนำทีมนักวิจัยจาก 4 ประเทศ (ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) โดยได้รับการสนับสนุนระยะ 10 ปีจาก Australian Antarctic Division (AAD) เพื่อดูแลและปรับปรุงเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและอนุภาคมิวออน ณ Mawson Station ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นการส่งออกเทคนิคที่เราพัฒนาในไทยไปสู่ต่างประเทศ การเข้าร่วมในโครงการ LHAASO ซึ่งมีเครื่องวัดรังสีคอสมิกยักษ์ใหญ่ ขนาดกว่า 1 ตร.กม. ใน ประเทศจีน โดยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อศึกษารังสีคอสมิกจากทิศทางต่าง ๆ นอกจากนั้นยังได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe (PSP) ขององค์กร NASA ซึ่งเป็นยานแรกที่ผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมเสนอที่มาของพลังงานความปั่นป่วนอันสูงในลมสุริยะ เนื่องจากความไม่เสถียรที่เกิดจากความเฉือนระหว่างเชือกฟลักซ์ต่าง ๆ ในลมสุริยะ ซึ่งได้รับความสนใจและแข่งขันอยู่กับทฤษฎีอื่นอีกด้วย
สำหรับงานของอาจารย์เดวิดและทีมวิจัยในปัจจุบัน และการต่อยอดในอนาคต เผยว่าจะต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน PSP ขององค์กร NASA เพิ่มเติม ขณะยานนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมกับข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้นทีมวิจัยกำลังจะออกแบบและสร้างเครื่องวัดรังสีคอสมิกขนาดเล็ก เพื่อติดตามผลกระทบของพายุสุริยะต่อกัมมันตรังสีรอบโลก สำหรับดาวเทียมวิจัยดวงแรกของไทย (Thai Space Consortium 1 หรือ TSC-1) ซึ่งวางแผนว่าจะโคจรข้ามขั้วโลก ในระยะต่อไปก็ตั้งใจที่จะพัฒนาเครื่องวัดรังสีคอสมิกสำหรับยาน TSC-2 ยานอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ซึ่งประเทศไทยมีแผนที่จะพัฒนาขึ้นภายใน 7 ปีข้างหน้านี้
ในส่วนของแนวคิดการทำงาน อาจารย์ ดร.วิทูร ได้ชวนคุยในช่วงท้ายของการเสวนา ซึ่งอาจารย์เดวิดได้เผยถึงการตัดสินใจเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ ณ The University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดในการทำงานว่า ตนเองมีความรู้สึกไม่ดีหากจะทำงานวิจัยอยู่ที่อเมริกาเพื่อความพอใจของตนเองเท่านั้น จึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่ประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นยังมีการศึกษาวิจัยในสาขาฟิสิกส์อวกาศน้อยมาก โดยมีเป้าหมายว่าอยากจะสอนนักศึกษาที่ประเทศไทยให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อวกาศ และชักชวนมาทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์อวกาศร่วมกัน ตลอดการทำงาน 33 ปี ที่ผ่านมาแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ความตั้งใจแรกก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป การได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองทำประโยชน์ให้กับสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขอยู่เสมอ
และจากนั้นจึงปิดท้ายการเสวนาด้วยการฝากถึงน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาว่าให้ตั้งเป้าหมายให้เหมาะกับตนเอง และเมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้ว ให้ทำอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ควรเคารพและให้เกียรติการตัดสินใจของบุตรหลานด้วยเช่นกัน ในส่วนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ อยากฝากให้หันมาให้ความสำคัญกับงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากขึ้น ให้โอกาสและเวลากับนักวิจัยได้ทำงานวิจัยตามความสนใจ เพราะงานวิจัยที่นำทางโดยความใฝ่รู้ (curiosity-driven research) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาความสามารถในการคิดทางวิทยาศาสตร์
- เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
- ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
- ภาพข่าวโดย : นางสาวจิรนันท์ นามั่ง