Science Café COVID-19 vol.2 “Current COVID-19 situation in Thailand, vaccine and its development”
- June 10, 2020
- 5 minutes
10 มิถุนายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาพิเศษ Science Café COVID-19 vol.2 “Current COVID-19 situation in Thailand, vaccine and its development” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 ในประเทศไทย และสื่อสารข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการอนุมัติใช้ฉุกเฉินในปัจจุบัน พร้อมเผยความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 (Bio Safety Level 3; BSL-3) และ นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมนักวิจัยวัคซีนโควิด-19 เป็นวิทยากร และมี อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนา ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live
รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบการระบาดในประเทศไทย และความแตกต่างของการระบาดในแต่ละระลอก พร้อมเล่าความเป็นมา และภาพรวมของกลุ่มวิจัยโควิด-19 มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับภาครัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดการควบคุมและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่การพัฒนาชุดตรวจโรค การพัฒนายารักษา และการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 พร้อมกล่าวถึงทิศทางของกลุ่มวิจัยในปัจจุบัน
ด้าน นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมนักวิจัยวัคซีนโควิด-19 ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และได้รับการอนุมัติใช้ฉุกเฉิน (approved for emergency use) ในประเทศไทยแล้ว โดยให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านคุณภาพโดยรวม ความเสี่ยง ผลข้างเคียง ความคุ้มค่า ซึ่ง รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ได้เพิ่มเติมถึงการวัดคุณภาพวัคซีนในห้องปฏิบัติการ การวัดประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน การกลายพันธุ์ของเชื้อ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ การจัดการโรค และเรื่องราวการพัฒนาวัคซีนอีกด้วย
นอกจากนั้น ในการเสวนาครั้งนี้ได้เผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้พัฒนา “วัคซีนซับยูนิตโควิด-19 แบบเฮกซะโปร” พร้อมอธิบายถึงความแตกต่างของวัคซีนที่ทีมพัฒนาขึ้นกับวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมวิจัยอื่น ๆ และเผยแผนการพัฒนาวัคซีนในอนาคต โดยตั้งเป้าจะพัฒนา “วัคซีนกรดไรโบนิวคลีอิกโควิด-19″ หรือ mRNA แบบ Circular RNA ที่มีความเสถียรมากกว่าแบบ Linear RNA ซึ่งเป็น mRNA ที่ใช้ในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในปัจจุบัน
- เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
- ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
- ภาพข่าวโดย: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง