Mahidol Science Cafe Vol.3: Nobel Prize in Chemistry: An ingenious tool for building molecules เครื่องมืออันชาญฉลาดในการสร้างโมเลกุล

Mahidol Science Cafe Vol.3: Nobel Prize in Chemistry: An ingenious tool for building molecules เครื่องมืออันชาญฉลาดในการสร้างโมเลกุล

5 พฤศจิกายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe Vol.3: Nobel Prize in Chemistry: An ingenious tool for building molecules เครื่องมืออันชาญฉลาดในการสร้างโมเลกุล เล่าเรื่องงานวิจัยของ 2 นักวิทยาศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์เบนจามิน ลิสต์ (Benjamin List) จาก Max-Planck-Institute für Kohlenforschung ประเทศเยอรมนี และ ศาสตราจารย์เดวิด แมคมิลแลน (David W.C. MacMillan) จาก Princeton University ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตร พร้อมอธิบายถึงการสร้างโมเลกุลด้วยตัวเร่งปฏิกิริยาแบบใหม่ นำไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อศักดิ์ ล้วนไพศาลนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง หัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 100 คน

ตลอดการเสวนาวิทยากรได้อธิบายเกี่ยวกับหลักการอย่างง่ายในการสร้างโมเลกุล ลักษณะของโครงสร้างโมเลกุลแบบอสมมาตร รวมถึงหลักการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้การเกิดปฏิกิริยาเคมีง่ายขึ้น พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ และชี้ให้เห็นถึงการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีในอดีตซึ่งมีการมอบรางวัลโนเบลให้กับผู้วิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี และเชื่อมโยงไปยังงานวิจัยของผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีนี้ ทั้ง 2 ท่าน ซึ่งทำการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตร ที่สามารถขยายผลไปสู่การพัฒนายา หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้ใช้งานมากขึ้น

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อศักดิ์ ล้วนไพศาลนนท์ ได้กล่าวว่าการสังเคราะห์ทางเคมีเป็นเครื่องมือในการสร้างโมเลกุล ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ รวมถึงต้องพิจารณาและคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง และได้อธิบายลักษณะของโครงสร้างโมเลกุลที่อสมมาตรว่า คือโมเลกุลที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน เหมือนกับมือซ้าย มือขวาของเรา แต่เมื่อนำมาซ้อนทับกันจะไม่สามารถซ้อนทับกันได้สนิท ซึ่งส่งผลให้มีคุณสมบัติแตกต่างกัน เช่น เอนไซม์มีความจำเพาะในการจับกับตัวรับต่างกัน สารมีกลิ่นต่างกัน เป็นต้น
ส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล ได้อธิบายเกี่ยวกับหลักการทำงานของตัวเร่งปฏิกิริยาที่ช่วยให้การเกิดปฏิกิริยาเคมีง่ายขึ้น พร้อมยกตัวอย่างตัวเร่งปฏิกิริยา 3 กลุ่ม ได้แก่ metal catalysis biocatalysis และ organocatalysis และชี้ให้เห็นว่าการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีในอดีตมีการมอบรางวัลให้กับผู้วิจัยเกี่ยวกับตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีมาแล้ว 7 ครั้ง ซึ่งงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในอดีตอยู่ในกลุ่มตัวเร่งปฏิกิริยาประเภท metal catalysis และ biocatalysis ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 2001 มีการมอบรางวัลโนเบลสาขาเคมีให้กับนักวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาในกลุ่ม metal catalysis ที่สามารถเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตร ผ่านมาถึง 20 ปี รางวัลโนเบลสาขาเคมีปีนี้เป็นปีแรกที่ให้กับงานวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยากลุ่ม organocatalysis ที่สามารถเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตรได้ ซึ่งนับเป็นแขนงวิจัยที่ได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา
ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อศักดิ์ ล้วนไพศาลนนท์ ได้เล่าถึงการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์แบบอสมมาตรจากโมเลกุลอินทรีย์ขนาดเล็กโดย ศาสตราจารย์เบนจามิน ลิสต์ และ ศาสตราจารย์เดวิด แมคมิลแลน และแสดงภาพจำลองการเร่งปฏิกิริยาของโมเลกุลอสมมาตร ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล ได้เสริมว่า เมื่อเทียบกับตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะ (metal catalysts) ที่มีการศึกษามานานกว่า 100 ปี และถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ลดขนาดโมเลกุลของน้ำมันดิบให้เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนขนาดเล็กลง ที่มีมูลค่าเพิ่ม ไปจนถึงการสังเคราะห์ยา ตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์ (organocatalysts) นั้นยังค่อนข้างใหม่ แต่ด้วยคุณสมบัติที่อาจมีความเป็นพิษน้อย เสถียร และสังเคราะห์ง่ายกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาโลหะ จึงถือเป็นกลุ่มตัวเร่งปฏิกิริยาประเภทใหม่ที่มีศักยภาพสูง สามารถขยายผลไปสู่การพัฒนายา หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต ปลอดภัยต่อผู้ผลิต รวมถึงผู้ใช้งานมากขึ้นได้ เชื่อว่าในอนาคตจะมีตัวเร่งปฏิกิริยาอินทรีย์ประเภทใหม่ ๆ ที่มีผลกระทบสูงและเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมทางเคมี ออกมาอีกมากมาย

นอกจากนั้นวิทยากรทั้ง 2 ท่านได้ให้ให้มุมมองต่อการสังเคราะห์ทางเคมีว่า Chemical synthesis: an adventure with endless possibility และทิ้งท้ายฝากสำหรับน้อง ๆ ที่สนใจในวิทยาศาสตร์ว่า วัยเยาว์ยังเป็นช่วงที่เรามีเวลา ลองหาโอกาสในการทดลองลงมือทำ ค้นหาศาสตร์ที่ตัวเองหลงใหล และไม่ต้องกดดันตัวเองในการรีบประสบความสำเร็จมากนัก พร้อมทิ้งท้ายว่าหากน้อง ๆ รักและอยากเรียนวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยินดีต้อนรับ

Mahidol Science Cafe Vol.2: Nobel Prize in Physiology or Medicine: From Heat & Hug to Pain treatment discoveries. การค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการรับสัมผัส สู่การนำไปใช้ในการรักษาอาการปวด

Mahidol Science Cafe Vol.2: Nobel Prize in Physiology or Medicine: From Heat & Hug to Pain treatment discoveries. การค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการรับสัมผัส สู่การนำไปใช้ในการรักษาอาการปวด

3 พฤศจิกายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe Vol.2: Nobel Prize in Physiology or Medicine: From Heat & Hug to Pain treatment discoveries. การค้นพบตัวรับอุณหภูมิและการรับสัมผัส สู่การนำไปใช้ในการรักษาอาการปวด เล่าเรื่องงานวิจัยของ 2 นักวิทยาศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ในปีนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ เดวิด จูเลียส (David Julius) และศาสตราจารย์ อาร์เด็ม พาทาพูเที่ยน (Ardem Patapoutian) พร้อมอธิบายถึงกลไกการรับอุณหภูมิและสัมผัสของมนุษย์ที่น่าทึ่งอันนำไปสู่การรักษาอาการปวด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร จงกมลวิวัฒน์ และ อาจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 40 คน
ตลอดการเสวนาวิทยากรได้เล่าประวัติโดยย่อของผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้ง 2 ท่าน และอธิบายเกี่ยวกับงานวิจัยของผู้ได้รับรางวัลโนเบล เสริมด้วยเกร็ดความรู้เรื่องของการเจ็บปวดกับการอยู่รอดที่ว่าทำไมเมื่อเจ็บเราถึงร้องไห้หรือส่งเสียงร้อง ตัวรับสัมผัสที่ไวต่อแก๊สน้ำตา ไปจนถึงตัวรับสัมผัสที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมแปลกประหลาดของแพนด้า พร้อมอธิบายถึงหลักการที่ร่างกายรับรู้ความเจ็บปวดและการสัมผัสอย่างง่าย ต่อด้วยคุณประโยชน์การค้นพบตัวรับสัมผัสและกลไกการทำงานของระบบประสาทที่สามารถขยายผลไปสู่การพัฒนายาระงับอาการปวด และวิธีการรักษาอาการปวดให้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร จงกมลวิวัฒน์ ได้เล่าถึงประวัติโดยย่อและงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ เดวิด จูเลียส นักสรีรวิทยาประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานฟรานซิสโก ผู้ค้นพบตัวรับสัมผัส TRPV1 ที่เป็นตัวรับความเจ็บปวดหรือความเผ็ดร้อน และ ศาสตราจารย์ อาร์เด็ม พาทาพูเที่ยน นักประสาทวิทยาและชีววิทยาระดับโมเลกุลจากสถาบันวิจัยสคริปส์ของสหรัฐฯ ผู้ค้นพบตัวรับสัมผัส Piezo ที่เป็นตัวรับแรงกด พร้อมกันนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงผลงานและการทดลองที่ทำให้เกิดการค้นพบตัวรับความรู้สึกของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและตัวรับแรงกดนี้ รวมทั้งกล่าวถึงกลไกการรับรู้ความเจ็บปวดและการสัมผัสว่าตัวรับนี้จะส่งสัญญาณไปยังสมองส่วน parietal cortex ที่อยู่ค่อนไปทางด้านหลัง ซึ่งระดับการรับรู้ความเจ็บปวดของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความเจ็บปวดที่แตกต่างกันของแต่ละคน และเสริมถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างตัวรับสัมผัส TRPA1 ที่ไวต่อแก๊สน้ำตาว่า มีอยู่มากที่บริเวณผิวของเยื่อบุดวงตาและกระจายอยู่ทั่วไปตามผิวหนัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ อาจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ เกี่ยวกับพฤติกรรมการพอกขี้ม้าสดของแพนด้าที่ไปยับยั้งตัวรับสัมผัส TRPM8 หรือตัวรับความเย็น ซึ่งอาจส่งผลให้แพนด้าสามารถอพยพย้ายถิ่นได้ไกลขึ้นอีกด้วย
ขณะที่ อาจารย์ ดร.อธิคุณ สุวรรณขันธ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับเกร็ดความรู้เรื่องของการเจ็บปวดกับการอยู่รอดว่า เป็นกลไกในการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ช่วยเหลือตนเองยังไม่ได้เมื่อรู้สึกเจ็บแล้วร้องไห้หรือส่งเสียงร้องจะทำให้ผู้ใหญ่สนใจมาดูแล และยังมีผลการศึกษามาก่อนหน้านี้ด้วยว่าเมื่อคนเราเห็นคนอื่นร้องไห้จะทำให้ร่างกายหลั่งสารออกซิโทซิน (Oxytocin) สร้างความรักความผูกพันระหว่างกันขึ้นมา และทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกันด้วย นอกจากนั้น ยังเล่าถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เรื่องตัวรับสัมผัสกับกลไกการทำงานของแขนเทียม (prosthetic arm) ให้สามารถรับสัมผัสได้ในประเทศจีน ซึ่งมีความท้าทายในการพัฒนาให้ผู้สวมใส่ได้รับสัมผัสที่สมจริงต่อไป

ในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรและผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงการขยายผลการค้นพบตัวรับสัมผัสและกลไกการทำงานของระบบประสาทไปสู่การพัฒนายาระงับอาการปวดว่า ปัจจุบันเราใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs และยาชาเฉพาะที่ แต่ในอนาคตเราอาจจะมียาระงับปวดซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาชาเฉพาะที่ หรือวิธีการรักษาอาการปวดให้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเบาหวาน หรืออาการไมเกรนได้ และฝากทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจในวิทยาศาสตร์ว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมต้อนรับผู้ที่มีความหลงใหลในวิทยาศาสตร์เสมอ และได้ให้มุมมองต่อการทำงานเรียนวิทยาศาสตร์และทำงานวิจัยว่า การประสบความสำเร็จนั้นอาจจะพบกับอุปสรรคมากมาย นอกจากจะต้องมีความพยายาม ความรู้ความสามารถแล้ว ขอให้มีความหลงใหลในสิ่งที่เรียนและสิ่งที่ทำ มีกรอบแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) มีความพยายาม สามารถนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเชื่อมโยง นำสู่องค์ความรู้ แนวคิด ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

Mahidol Science Cafe Vol.1: Nobel Prize in Physics: Physics of global warming and other complex phenomena ฟิสิกส์เรื่องโลกร้อนและปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ

Mahidol Science Cafe Vol.1: Nobel Prize in Physics: Physics of global warming and other complex phenomena ฟิสิกส์เรื่องโลกร้อนและปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ

2 พฤศจิกายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe Vol.1: Nobel Prize in Physics: Physics of global warming and other complex phenomena ฟิสิกส์เรื่องโลกร้อนและปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ เล่าเรื่องงานวิจัยของ 3 นักฟิสิกส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ชูคุโระ มานาเบะ (Syukuro Manabe) ศาสตราจารย์ เคลาส์ ฮาสเซิลมานน์ (Klaus Hasselmann) และ ศาสตราจารย์ จอร์จิโอ ปาริซี (Giorgio Parisi) พร้อมอธิบายถึงการประยุกต์ใช้ฟิสิกส์ศึกษาปัญหาเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ซับซ้อน โดยมี Professor Dr.David John Ruffolo และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 100 คน

ตลอดการเสวนาวิทยากรได้เล่าประวัติของผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้ง 3 ท่าน พร้อมอธิบายเกี่ยวกับงานวิจัยของผู้ได้รับรางวัลโนเบล คุณประโยชน์ของงานวิจัยที่ใช้ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ซับซ้อนในระยะยาว เช่น ภาวะโลกร้อน รวมถึงสาเหตุและผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงให้เห็นภาพชัดเจน

โดย Professor Dr.David John Ruffolo ได้เล่าถึงประวัติโดยย่อและงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ชูคุโระ มานาเบะ (Syukuro Manabe) และ ศาสตราจารย์ เคลาส์ ฮาสเซิลมานน์ (Klaus Hasselmann) ผู้สร้างแบบจำลองสภาพอากาศโลก และการอธิบายการแปรเปลี่ยนเชิงปริมาณและการพยากรณ์ภาวะโลกร้อนอย่างแม่นยำ โดยทำการศึกษาทฤษฎีความสุ่มของสภาพอากาศ และรอยนิ้วมือของอิทธิพลของมนุษย์ที่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระยะยาว ซึ่งมีอิทธิพลเด่นชัดตั้งแต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนเรื่อง สมดุลความร้อนของโลก รังสีความร้อน โมเลกุลซับซ้อนที่สามารถดูดกลืนรังสีความร้อน และผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกต่อสภาพอากาศของโลกและสิ่งมีชีวิต เช่น ระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น อากาศหนาวจัด ร้อนจัดในบางพื้นที่
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ ได้อธิบายเกี่ยวกับพื้นฐานงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ จอร์จิโอ ปาริซี (Giorgio Parisi) ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์สสารควบแน่นเชิงทฤษฎี ฟิสิกส์เชิงสถิติ และทฤษฎีควอนตัม ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับอันตรกิริยาระหว่างอนุภาคขนาดเล็ก จนค้นพบปฏิสัมพันธ์ของความยุ่งเหยิงและความผันผวนของระบบเชิงกายภาพ ทำให้เราสามารถจัดกลุ่มความใกล้เคียง คำนวณความน่าจะเป็นของแต่ละสภาวะ และอธิบายถึงความเสถียรของสภาวะยุ่งเหยิงได้ ซึ่งเป็นประตูสู่การศึกษาปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนตั้งแต่ระดับอนุภาคไปจนถึงดาวเคราะห์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่นได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อะตอม ชีวเคมี การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ภูมิอากาศวิทยา เป็นต้น

และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงโดยมองว่า แม้ที่ผ่านมามนุษย์จะทำลายธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี การแก้ปัญหานี้ก็ยังมีความเป็นไปได้ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือและการบังคับใช้นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังของทั่วโลก นอกจากนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่างานวิจัยด้านฟิสิกส์นั้นมีหลายสาขาวิชาที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่น้อย ปิดท้ายด้วยการสะท้อนถึงมุมมองต่อคุณค่าของรางวัลโนเบลว่า การมอบรางวัลโนเบลเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ และยกย่องความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของนักวิทยาศาสตร์ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐานนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ งานวิจัยที่ดูเป็นนามธรรมในวันนี้ก็อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตก็เป็นได้ ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการสะท้อนถึงความหมายของสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา ความสวยงามของมนุษย์ที่ได้ทำความเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ อีกด้วย

Mahidol Science Café ส่องแนวคิดเบื้องหลังการวิจัยฟิสิกส์อวกาศของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ

Mahidol Science Café ส่องแนวคิดเบื้องหลังการวิจัยฟิสิกส์อวกาศของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ

17 มกราคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café : ส่องแนวคิดเบื้องหลังการวิจัยฟิสิกส์อวกาศของนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พูดคุยเจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จของ Professor Dr. David John Ruffolo นักฟิสิกส์อวกาศ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิทยาศาสตร์รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ และคณิตศาสตร์ ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 42 คน

ตลอดการเสวนา Professor Dr. David หรืออาจารย์เดวิดของนักศึกษา ได้เล่าถึงความสำคัญของการศึกษารังสีคอสมิก และสภาพอวกาศ ก่อนจะนำเสนองานของทีมวิจัยในปัจจุบันและผลงานวิจัยเด่นที่ผ่านมา ต่อด้วยงานของทีมวิจัยในอนาคต รวมถึงความตั้งใจแรกและแนวคิดในการทำงานที่ยืดมั่นมาตลอดการขับเคลื่อนวงการวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศในประเทศไทยกว่า 33 ปี

อาจารย์เดวิดเล่าถึงความสำคัญของการศึกษารังสีคอสมิกให้เห็นภาพอย่างง่าย ๆ ว่าที่ผิวดวงอาทิตย์มีการระเบิดเป็นครั้งคราวที่เรียกว่าพายุสุริยะ จะมีอนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ หรือ “รังสีคอสมิก” ซึ่งส่งผลกระทบทาง “สภาพอวกาศ” และคุกคามต่อสุขภาพของนักบินอวกาศ หรือแม้แต่ผู้โดยสารเครื่องบินบริเวณขั้วโลก สามารถทำลายดาวเทียมและยานอวกาศ หรือหม้อแปลงพังและไฟฟ้าดับบนโลกซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังขาดความเข้าใจพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเข้าใจได้สมบูรณ์ต่อเมื่อวัดรังสีคอสมิกอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากพื้นโลกและจากอวกาศ และต้องศึกษาลักษณะความปั่นป่วนของสนามแม่เหล็กในอวกาศ ซึ่งกำหนดการเคลื่อนที่ของอนุภาครังสีคอสมิก เราศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยการสร้างสถานีตรวจวัดนิวตรอน การวิเคราะห์ข้อมูลจากยานอวกาศ และการคิดทฤษฎีและการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์

ที่ผ่านมาอาจารย์เดวิดมีผลงานเด่นด้านฟิสิกส์อวกาศมากมาย อาทิ สร้างกลุ่มวิจัยที่ผลิตผลงานด้านทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิกมายังโลกท่ามกลางความปั่นป่วนของลมสุริยะ การเร่งอนุภาคที่คลื่นกระแทกจากพายุสุริยะ และวิธีบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกมาถึงโลกและส่งผลกระทบทางสภาพอวกาศต่อกิจกรรมของมนุษย์ การติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์ เพื่อวัดอนุภาคและพลังงานของรังสีคอสมิกต่อเวลา รวมทั้งนำทีมนักวิจัยจาก 4 ประเทศ (ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย) โดยได้รับการสนับสนุนระยะ 10 ปีจาก Australian Antarctic Division (AAD) เพื่อดูแลและปรับปรุงเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและอนุภาคมิวออน ณ Mawson Station ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นการส่งออกเทคนิคที่เราพัฒนาในไทยไปสู่ต่างประเทศ การเข้าร่วมในโครงการ LHAASO ซึ่งมีเครื่องวัดรังสีคอสมิกยักษ์ใหญ่ ขนาดกว่า 1 ตร.กม. ใน ประเทศจีน โดยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อศึกษารังสีคอสมิกจากทิศทางต่าง ๆ นอกจากนั้นยังได้ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe (PSP) ขององค์กร NASA ซึ่งเป็นยานแรกที่ผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมเสนอที่มาของพลังงานความปั่นป่วนอันสูงในลมสุริยะ เนื่องจากความไม่เสถียรที่เกิดจากความเฉือนระหว่างเชือกฟลักซ์ต่าง ๆ ในลมสุริยะ ซึ่งได้รับความสนใจและแข่งขันอยู่กับทฤษฎีอื่นอีกด้วย

สำหรับงานของอาจารย์เดวิดและทีมวิจัยในปัจจุบัน และการต่อยอดในอนาคต เผยว่าจะต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน PSP ขององค์กร NASA เพิ่มเติม ขณะยานนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมกับข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้นทีมวิจัยกำลังจะออกแบบและสร้างเครื่องวัดรังสีคอสมิกขนาดเล็ก เพื่อติดตามผลกระทบของพายุสุริยะต่อกัมมันตรังสีรอบโลก สำหรับดาวเทียมวิจัยดวงแรกของไทย (Thai Space Consortium 1 หรือ TSC-1) ซึ่งวางแผนว่าจะโคจรข้ามขั้วโลก ในระยะต่อไปก็ตั้งใจที่จะพัฒนาเครื่องวัดรังสีคอสมิกสำหรับยาน TSC-2 ยานอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ซึ่งประเทศไทยมีแผนที่จะพัฒนาขึ้นภายใน 7 ปีข้างหน้านี้

ในส่วนของแนวคิดการทำงาน อาจารย์ ดร.วิทูร ได้ชวนคุยในช่วงท้ายของการเสวนา ซึ่งอาจารย์เดวิดได้เผยถึงการตัดสินใจเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ ณ The University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดในการทำงานว่า ตนเองมีความรู้สึกไม่ดีหากจะทำงานวิจัยอยู่ที่อเมริกาเพื่อความพอใจของตนเองเท่านั้น จึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่ประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นยังมีการศึกษาวิจัยในสาขาฟิสิกส์อวกาศน้อยมาก โดยมีเป้าหมายว่าอยากจะสอนนักศึกษาที่ประเทศไทยให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฟิสิกส์อวกาศ และชักชวนมาทำงานวิจัยสร้างองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์อวกาศร่วมกัน ตลอดการทำงาน 33 ปี ที่ผ่านมาแม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ความตั้งใจแรกก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป การได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองทำประโยชน์ให้กับสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขอยู่เสมอ

และจากนั้นจึงปิดท้ายการเสวนาด้วยการฝากถึงน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาว่าให้ตั้งเป้าหมายให้เหมาะกับตนเอง และเมื่อตั้งใจแน่วแน่แล้ว ให้ทำอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้ปกครองเองก็ควรเคารพและให้เกียรติการตัดสินใจของบุตรหลานด้วยเช่นกัน ในส่วนของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนวงการวิทยาศาสตร์ อยากฝากให้หันมาให้ความสำคัญกับงานวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากขึ้น ให้โอกาสและเวลากับนักวิจัยได้ทำงานวิจัยตามความสนใจ เพราะงานวิจัยที่นำทางโดยความใฝ่รู้ (curiosity-driven research) เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาความสามารถในการคิดทางวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศและสภาพอวกาศจากทีมวิจัยได้ทาง Facebook page Thai Space Physics & Space Weather

Mahidol Science Café เคล็ดลับสอนออนไลน์อย่างไรให้ปัง

Mahidol Science Café เคล็ดลับสอนออนไลน์อย่างไรให้ปัง

8 ตุลาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café “เคล็ดลับสอนออนไลน์อย่างไรให้ปัง” เปิดเวทีแชร์ประสบการณ์ตรงและเคล็ดลับการสอนให้ปังโดนใจผู้เรียนของ 4 อาจารย์ผู้ได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2563 ได้แก่ ผศ. ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ อ. ดร.เอกวัจน์ เชาว์วิชารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ อ. ดร.นฤพัฒน์ หงษ์ดิลกกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และ อ. ดร.ภัคพล พงศาวกุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา โดยมี อ. ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านทาง Facebook live
ตลอดการเสวนาวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้พูดคุยแชร์ประสบการณ์จริง และมุมมองต่อการสอนออนไลน์ ในประเด็นความท้าทายของการสอนออนไลน์ วิธีการออกแบบการสอน ไปจนถึงวิธีการสอบและการวัดผลออนไลน์ ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้ข้อจำกัดจากการปิดสถานศึกษาเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
โดย ผศ. ดร.วิทวัชร์ โฆษิตวัฒนฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ ผู้สอนรายวิชา วทคณ 211 หลักคณิตศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชย ประเภท Blended Learning Course เผยว่าโดยปกติก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด – 19 นั้น มีการจัดการเรียนการสอนในห้องแบบ flipped classroom อยู่แล้ว จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสอนแบบออนไลน์ได้ โดยมีหลักการคือให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยวีดีโอจากที่บ้านก่อน แล้วจึงมาทำกิจกรรมร่วมกันในห้องเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ลองผิดลองถูก ให้โอกาสนักศึกษาแก้ปัญหาเองโดยมีอาจารย์ให้คำแนะนำ สอดคล้องกับปรัชญาการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเน้นจัดการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน โดยใช้การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างเสริมความรู้ ความสามารถและทักษะใหม่ได้ด้วยตนเอง
ด้าน อ. ดร.เอกวัจน์ เชาว์วิชารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ ผู้สอนรายวิชา วทคณ 111 แคลคูลัส ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชย ประเภท Media Design for Online Teaching ได้กล่าวถึงมุมมองต่อการจัดการสอนออนไลน์ว่า เป็นการเตรียมของให้ครบ สำหรับคนที่มีจริตในการเรียนต่าง ๆ กัน แต่ละคนมีความพร้อมไม่เท่ากัน และด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันก็สร้างความเครียดให้กับผู้เรียนมากพออยู่แล้ว การเรียนออนไลน์จึงไม่ควรเพิ่มความเครียดให้กับผู้เรียนอีก ไว้ใจว่าเขามาเพื่อเรียนรู้ ไม่ได้มาเอาคะแนนอย่างเดียว และทำให้เขาไว้ใจว่าเรากำลังช่วยให้เขาเรียนรู้อยู่เสมอ ดังนั้นในวิชานี้จึงไม่มีการเช็คชื่อ แต่จะเน้นการทำแบบฝึกหัด มีการจัดทำวิดีโออธิบายบทเรียนให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ล่วงหน้าได้ มีเอกสารประกอบการสอนที่เน้นบรรยายความสมเหตุสมผลของสิ่งต่าง ๆ และมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาให้ไม่กลัวทั้งตัววิชาที่เรียน และกลัวอาจารย์ โดยอยากให้นักศึกษามีมุมมองว่า อาจารย์ก็เป็นคนธรรมดา มาคุยกันได้ทุกเรื่อง
ส่วน อ. ดร.นฤพัฒน์ หงษ์ดิลกกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ผู้สอนรายวิชา วททช 304 ปฏิบัติการสรีรวิทยาและพันธุศาสตร์จุลินทรีย์ ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชยประเภท Online Engagement and Motivation Techniques, Innovations and Learning Models ได้เผยถึงการจัดการเรียนการสอนรายวิชาปฏิบัติการแบบออนไลน์ที่ถือว่าท้าทายอย่างมาก เนื่องจากจะต้องออกแบบให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะการทำแล็บได้ใกล้เคียงกับการเรียนในสถานที่จริง รู้จักการแก้ปัญหา และแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ให้นักศึกษาได้เห็นอย่างครบถ้วน ซึ่งมองว่าการใช้วิดีโอสำเร็จรูปอาจจะไม่ตอบโจทย์ จึงได้ร่วมกับทีมอาจารย์ออกแบบการสอนและพัฒนาสื่อการสอน โดยจัดทำสื่อวิดีโอตามคู่มือปฏิบัติการ ที่มีการเน้นรายละเอียด และจุดสำคัญอย่างชัดเจน เพื่อช่วยให้นักศึกษาเข้าใจขั้นตอนการทำแล็บได้ดีขึ้น พร้อมกับได้แนะนำเกี่ยวกับการจัดทำวิดีโอสื่อการสอนอีกด้วย
ขณะที่ อ. ดร.ภัคพล พงศาวกุล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ผู้สอนรายวิชา วทศท 121 วิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อสุขภาวะ และ วทศท 122 วิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อการมีชีวิตที่ดี ซึ่งได้รับรางวัลการสอนออนไลน์ ประจำปี 2563 ระดับชมเชย ประเภท Online Engagement and Motivation Techniques, Innovations and Learning Models ได้เล่าถึงประสบการณ์การสอนออนไลน์ที่มีผู้เรียนกว่า 1,073 คน ซึ่งประยุกต์ใช้องค์ความรู้มาจากการเข้าร่วมโครงการ Innovative Teaching Scholar Program by Stanford d.school – the Hasso Plattner Institute of Design มาปรับใช้ในการสอนออนไลน์ และนอกจากนั้นได้ฝากถึงสิ่งที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักศึกษากลุ่มใหญ่ว่าต้องมีการวางแผนลำดับบทเรียน ใบงาน และ quiz ที่ชัดเจนและเป็นระบบ เพื่อให้นักศึกษาสามารถวางแผนและจัดการกับตารางเรียนได้ และเกิดความยุติธรรมกับนักศึกษา
สำหรับการประเมินผลการสอนนั้นแต่ละวิชามีรูปแบบที่ต่างกัน เช่น วิชาแคลคูลัสจะไม่มีการสอบแต่จะให้การบ้านทุกสัปดาห์โดยการให้ทุกคนตั้งโจทย์เอง วิชาหลักคณิตศาสตร์จะมีการวัดผลหลายรูปแบบให้นักศึกษาเลือก ทั้งการทำ Project การตั้งคำถามปลายเปิด และการสอบแบบ take home วิชาปฏิบัติการสรีรวิทยาและพันธุศาสตร์จุลินทรีย์จะเน้นให้นักศึกษารู้จักวิเคราะห์แก้ปัญหาผ่านการสอบแบบ open book exam ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อสุขภาวะและวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพเพื่อการมีชีวิตที่ดี ก็จะมีการผสมผสานระหว่างให้นักศึกษาอ่าน ฟัง ค้นคว้า เป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่ม เพื่อตอบคำถามปลายเปิด หรือเป็น Quiz ในแต่ละหัวข้อ เป็นต้น
และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลที่มอบรางวัลการสอนออนไลน์ เป็นกำลังใจในการสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักศึกษาต่อไป และสะท้อนถึงมุมมองต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ว่า การสอนออนไลน์ถึงแม้ว่าอาจจะลดประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนไป แต่เทคโนโลยีหรือเทคนิคบางอย่างที่ได้ทดลองใช้ในช่วงนี้ก็สามารถปรับใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ ในวันที่สามารถกลับมาเรียนในห้องเรียนได้ พร้อมเสนอให้มีเวทีให้นักศึกษาได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ ปิดท้ายด้วยการให้กำลังใจแก่อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน

Mahidol Science Café ถอดบทเรียน “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว”

Mahidol Science Café ถอดบทเรียน “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว”

5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา 4 สถาบันภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในการผลิตโฟมพีอีเอส (Expanded Polystyrene Foam: ESP) เชื้อเพลิงในเหตุระเบิดโรงงานผลิตโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21 พร้อมเสนอความเห็นเบื้องต้นด้านการจัดการปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน จากมุมมองคนในแวดวงสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข ในงานเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ถอดบทเรียน “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว” โดยมี รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ รศ. ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร และมี รศ. ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนา ถ่ายทอดสดผ่านทาง Cisco Webex และ Facebook live ซึ่งมีผู้สนใจรับชมรวมกว่า 247 คน
รศ. ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นของ “สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer)” สารตั้งต้นในการผลิตโฟมว่าเป็นสารเคมีที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง จุดหลอมเหลว -30 องศาเซลเซียส จุดเดือด 145 องศาเซลเซียส มีความหนาแน่น 0.91 g/cm3 ซึ่งมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เมื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะขยายตัวกลายเป็นโฟมพีอีเอส หากมีการเผาไหม้สมบูรณ์ก็จะได้สารคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่ถ้าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็จะเห็นเป็นควันสีดำซึ่งมีสารคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO2) ที่จะไปแย่งออกซิเจนจับกับฮีโมโกลบินซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนได้
ซึ่งในกรณีนี้ รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่าสารเคมีที่น่ากังวล ไม่ได้มีเพียงแค่สารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งในสัตว์ทดลองพบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) จากการเผาไหม้ที่เป็นเหตุทำให้หมดสติจากการขาดออกซิเจน ยังมีเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและจัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) หรือ VOCs ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์มากกว่าด้วย
นอกจากนั้น รศ. ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสริมว่าในฝุ่นควันเคมีจะพบโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือ PAHs ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพที่สำคัญอีกหนึ่งตัว และได้กล่าวถึงการแพร่กระจายของฝุ่นควันเคมีว่า เนื่องจากการฝุ่นควันจากการระเบิดนั้นลอยตัวขึ้นสูงและแพร่กระจายไปตามทิศทางลม จึงไม่สามารถวัดค่าสารเคมีต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนในอากาศเป็นรัศมีวงกลมเหมือนกับอันตรายจากความร้อนและการระเบิดได้ จากแบบจำลองพยากรณ์การเคลื่อนตัวของอากาศ ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จัดทำขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่าทิศทางของลมจะพัดกลุ่มฝุ่นควันไปจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก จากนั้นพัดจากทิศใต้และทิศเหนือ ดังนั้นควรจะมีการตรวจวัดตามกระแสลมไปเรื่อย ๆ เพื่อดูระดับสารพิษเทียบกับค่าระดับความเข้มข้นแบบเฉียบพลัน และแจ้งเตือนอันตรายต่อไป โดยสำหรับสไตรีนจะก่อความเป็นพิษเฉียบพลันที่ 100 ppm และถึงแม้จะสัมผัสในปริมาณ 0.06 ppm ต่อเนื่อง 1-2 วัน ก็เป็นอันตรายเช่นกัน โดยปกติองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่าสไตรีนในอากาศควรอยู่ต่ำกว่าระดับที่จมูกได้กลิ่น หรือต่ำกว่า 0.016 ppm
ในส่วนของวิธีการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แนะนำถึงวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้อาศัยอยู่ในชุมชนที่อยู่ในเขตการแพร่กระจายของกลุ่มฝุ่นควันเคมี อาจมีอาการตาแดง แสบตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดประมาณ 15 นาที ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรถอดออก จากนั้นล้างตาด้วยน้ำสะอาด ส่วนอาการระคายเคืองผิวหนัง ให้อาบน้ำล้างตัวด้วยสบู่ กรณีเป็นผื่นสามารถใช้ครีมที่มีสเตียรอยด์ทาได้ หากแสบจมูก การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยชะล้างอนุภาคฝุ่นออกมาซึ่งลดการอักเสบได้ ถ้ามีอาการไอ ระคายเคืองทางเดินหายใจสามารถทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ เปิดเครื่องกรองอากาศที่ไส้กรองมีคาร์บอนที่มีชาร์โค ซึ่งมีหลักฐานว่าพอช่วยลด VOCs ได้บ้าง หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสารพิษสามารถติดต่อศูนย์พิษวิทยาได้ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับผู้ปฏิบัติงานควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปควรจะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง หรือ PPE ให้เหมาะกับสารเคมีในพื้นที่ ในกรณีนี้อาจจะต้องมีหน้ากากที่ป้องกันสารระเหยได้
ท้ายที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การจัดการสารพิษปนเปื้อนในอากาศเท่านั้น แต่ต้องคำนึงไปถึงเหตุการณ์ต่อจากนี้ซึ่งมีโอกาสที่ฝนจะตกในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลสูง ส่งผลให้ฝุ่นควันเคมีตกลงมาพร้อมกับฝนปนเปื้อนลงสู่ดิน น้ำ และอนาคตอาจจะพบว่าปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนั้นโรงงานอุตสาหกรรมควรมีการประเมินความเสี่ยงและสถานการณ์เลวร้ายอย่างแท้จริงเพื่อหาวิธีรับมือที่เหมาะสม โดยควรเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้คนในชุมชนเกี่ยวกับสารเคมีในโรงงาน และยังควรมีการให้ความรู้เรื่องสารพิษกับบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things ช่วยในเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมีเป็นต้น

Science Café COVID-19 vol.2 “Current COVID-19 situation in Thailand, vaccine and its development”

Science Café COVID-19 vol.2 “Current COVID-19 situation in Thailand, vaccine and its development”

10 มิถุนายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาพิเศษ Science Café COVID-19 vol.2 “Current COVID-19 situation in Thailand, vaccine and its development” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 ในประเทศไทย และสื่อสารข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีการอนุมัติใช้ฉุกเฉินในปัจจุบัน พร้อมเผยความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 (Bio Safety Level 3; BSL-3) และ นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมนักวิจัยวัคซีนโควิด-19 เป็นวิทยากร และมี อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนา ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live
รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบการระบาดในประเทศไทย และความแตกต่างของการระบาดในแต่ละระลอก พร้อมเล่าความเป็นมา และภาพรวมของกลุ่มวิจัยโควิด-19 มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับภาครัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดการควบคุมและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่การพัฒนาชุดตรวจโรค การพัฒนายารักษา และการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 พร้อมกล่าวถึงทิศทางของกลุ่มวิจัยในปัจจุบัน
ด้าน นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในทีมนักวิจัยวัคซีนโควิด-19 ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และได้รับการอนุมัติใช้ฉุกเฉิน (approved for emergency use) ในประเทศไทยแล้ว โดยให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านคุณภาพโดยรวม ความเสี่ยง ผลข้างเคียง ความคุ้มค่า ซึ่ง รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ได้เพิ่มเติมถึงการวัดคุณภาพวัคซีนในห้องปฏิบัติการ การวัดประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน การกลายพันธุ์ของเชื้อ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ การจัดการโรค และเรื่องราวการพัฒนาวัคซีนอีกด้วย
นอกจากนั้น ในการเสวนาครั้งนี้ได้เผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้พัฒนา “วัคซีนซับยูนิตโควิด-19 แบบเฮกซะโปร” พร้อมอธิบายถึงความแตกต่างของวัคซีนที่ทีมพัฒนาขึ้นกับวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมวิจัยอื่น ๆ และเผยแผนการพัฒนาวัคซีนในอนาคต โดยตั้งเป้าจะพัฒนา “วัคซีนกรดไรโบนิวคลีอิกโควิด-19″ หรือ mRNA แบบ Circular RNA ที่มีความเสถียรมากกว่าแบบ Linear RNA ซึ่งเป็น mRNA ที่ใช้ในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในปัจจุบัน