ผลงานวิจัยที่ได้รับประโยชน์


การวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางถอนขนไก่

ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แช่เย็น ไก่แช่แข็ง และไก่แปรรูปไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีมากกว่า 60,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการผลิตและแปรรูปไก่เพื่อบริโภคภายในประเทศด้วย การแปรรูปไก่จะเริ่มด้วยการนำไก่ที่ผ่านการคัดเลือกไปผ่านขั้นตอนต่างๆ เริ่มตั้งแต่การช๊อตด้วยไฟฟ้า เชือด ลวก ถอนขน แล่และตัดแต่ง และท้ายสุดจึงนำไก่แปรรูปไปบรรจุเพื่อส่งจำหน่ายต่อไป สำหรับในขั้นตอนของการถอนขน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะใช้เครื่องถอนขนไก่อัตโนมัติซึ่งมีลูกยางถอนขนไก่เป็นองค์ประกอบหลักของเครื่องที่ทำหน้าที่ดึงขนไก่ให้หลุดออกจากตัวไก่ เนื่องจากอุตสาหกรรมการแปรรูปไก่เป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการใช้ลูกยางถอนขนไก่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำหนดลักษณะเฉพาะ (specification) ของลูกยางถอนขนไก่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ได้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียางจึงได้ดำเนินการวิจัยเพื่อจัดทำร่างมาตรฐานลูกยางถอนขนไก่ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ให้งบประมาณสนับสนุนแก่ เพื่อส่งมอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป

ผลงานวิจัย

ได้จัดทำร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางถอนขนไก่ โดยทำการทดสอบยางถอนขนไก่ในตลาดที่ผลิตโดยบริษัทคนไทย 5 บริษัทและบริษัทต่างชาติ 2 บริษัท ในด้านความแข็ง สมบัติการรับแรงดึง ความทนต่อการเสื่อมสภาพ การกระเด้งตัว ความทนต่อการฉีกขาด ความทนต่อการขัดสี ความปลอดภัยจากสารตกค้าง ความต้านทานต่อการขยายตัวของรอยแตก แล้วนำผลการศึกษาไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปที่จะนำมากำหนดเป็นร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางถอนขนไก่

การนำผลงานไปใช้ประโยชน์

ร่างมาตรฐานที่ได้จัดทำขึ้นได้ส่งมอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำไปจัดทำเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางถอนขนไก่ มอก. 2666-2558 และประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558