24-26 กันยายน 2567 คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการต่อยอดงานวิจัยในห้องปฏิบัติการสู่งานวิจัยเชิงพาณิชย์ในงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 (TRIUP Fair 2024)” ภายใต้แนวคิด “Impact Journey to Ignite Thailand” ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ในมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 นี้ มีคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และทีมวิจัยได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานถึง 2 ทีม ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และศูนย์นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยทีมวิจัย ซึ่งเข้าร่วมแสดงผลงานเทคโนโลยี IoT เซนเซอร์สำหรับตรวจวัดกลิ่นในโรงงานสีเขียวและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท จมูกอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสัมผัสประดิษฐ์ (Artificial Sense) ตรวจวัดกลิ่น ในการติดตามกลิ่นเหม็นและการรั่วไหลของก๊าซหรือสารเคมีอันตรายในโรงงานอุตสาหกรรม โรงแยกก๊าซ และบ่อขยะตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีสถานีตรวจวัดกลิ่นแบบ Internet of Things (IoT) ที่สามารถรายงานผลแบบ real-time และระบบปัญญาประดิษฐ์คาดการและแจ้งเตือนความเสี่ยงของการเกิดกลิ่น หรือสารเคมีรั่วไหลเพื่อควบคุมมลพิษ ป้องกันอันตราย และลดความขัดแย้งกับชุมชน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมได้จริง
และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมด้วยทีมวิจัย ได้แก่ นักศึกษาปริญญาโท นางสาวพิชญามน มหารัตนวงศ์, นางสาวพรรณปพร หัสปราบ, นางสาวพรรษชนม์ ไกรคุณ, นายขานนท์ โลหะนันท์ และนักศึกษาปริญญาตรี นางสาวศรุดา ลิ้มวราภัส ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เข้าร่วมแสดงผลงานวิจัยคอลลาเจนและคอลลาเจนเปปไทด์บริสุทธิ์จากจระเข้สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ร่วมพัฒนากับบริษัทศรีราชาฟาร์ม (เอเชีย) ในการพัฒนากระบวนการผลิตและสกัดโปรตีนคอลลาเจนและคอลลาเจนเปบไทด์บริสุทธิ์จากอวัยวะเหลือทิ้งส่วนต่าง ๆ ของจระเข้ รวมถึงวิเคราะห์คุณสมบัติ และความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐาน จนได้คอลลาเจนพื้นถิ่นที่ปลอดภัย และมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดีมาก ดูดซึมและย่อยได้ง่าย กลิ่นไม่คาว ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเชิงหน้าที่ได้
โดยผลงาน เทคโนโลยี IoT เซนเซอร์สำหรับตรวจวัดกลิ่นในโรงงานสีเขียวและสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ นั้นได้รับรางวัล TRIUP AWARDS 2024: RESEARCH UTILIZATION WITH HIGH IMPACT ระดับดีเด่น ซึ่งมอบให้เพื่อประกาศเชิดชูเกียรติผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูง ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้มอบประกาศเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ด้วย
มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 (TRIUP Fair 2024) จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์สู่การสร้างผลกระทบสูงในประเด็นสำคัญผ่านแนวคิด Journey to Impact เพื่อเชื่อมโยงกลไกต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานในระบบนิเวศ รวมถึงนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานของการส่งเสริมผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของหน่วยบริหารและจัดการทุน เพื่อสานต่อกิจกรรมและเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ
เรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ,
Facebook page Innovative house Shift & Go beyond Boundaries
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 27 กันยายน 2567