คณะวิทย์ ม.มหิดล มอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง พร้อมแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่น และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล เชิดชูเกียรติคนทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ฉลองครบรอบ 66 ปี แห่งการสถาปนา

21 ตุลาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีทำบุญเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะฯ ครบรอบ 66 ปี พร้อมเชิญ ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แสดงปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 30 “บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้าง Real-World Impact” และมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติศิษย์เก่าผู้นำเอาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสังคม รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง รวมถึงแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลบุคลากรดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ณ อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

โดยกิจกรรมภายในงานช่วงเช้าเป็นการพิธีทำบุญถวายเครื่องไทยธรรม ภัตตาหารแก่พระสงฆ์จากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร จำนวน 9 รูป โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห, รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ ผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567, อาจารย์เกษียณ, คณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้บริหารคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีสงฆ์ ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ

จากนั้นจึงเป็นพิธีเปิด ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) ซึ่งได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมแสดงความยินดีและกล่าวเปิดงาน ต่อด้วยการปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 30 ในหัวข้อ “บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้าง Real-World Impact” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปาฐกถา โดยกล่าวถึง ทิศทางของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มุ่งมั่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชน ผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และผลักดันให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจและผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มสัดส่วนของงานวิจัยที่สร้าง Real World Impact ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญของงานวิจัยที่สร้าง Academic Impact คำนึงถึงความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกันภายในมหาวิทยาลัยมหิดล และความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างนวัตกรรม ภายใต้หัวข้อการวิจัย 4 ด้าน ได้แก่ Health Science, Science & Technology, Sustainability, Well-being ซึ่งล้วนต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน

หลังจากการจบการปาฐกถาแล้วจึงเข้าสู่พิธีการประกาศผล 2 รางวัลเชิดชูเกียรติของคณะวิทยาศาสตร์ และการแสดงความยินดีกับรางวัลบุคลากรดีเด่น มหาวิทยาลัยมหิดล และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ตามลำดับ

รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567 เป็นรางวัลที่คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สศวม) พิจารณามอบให้กับศิษย์เก่า หรือผู้ที่เคยลงทะเบียนเรียนวิชาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ และทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งในปีนี้ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่

  1. ดร.พงษ์สุดา (ภูมะธน) ผ่องธัญญา
    Managing Director บริษัท Deltalab S.L. ประเทศสเปน
    Healthcare Supplies SCG Packaging PLC, SCG ประเทศไทย
    ศิษย์เก่าในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ

  2. รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์
    ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์
    กรรมการมูลนิธิจุฬาภรณ์
    และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
    ศิษย์เก่าระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี และศิษย์เก่าระดับปริญญาโท สาขาวิชาเคมีอินทรีย์

  3. ศาสตราจารย์ ดร.นริศรา จันทราทิตย์
    ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
    ศิษย์เก่าระดับปริญญาโท สาขาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
    ซึ่งได้ศึกษาในวิชาร่วมระหว่างหลักสูตรจุลชีววิทยาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิทยาศาสตร์ ในหลายรายวิชา

โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สถิตย์ สิริสิงห ผู้แทนนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มอบโล่เกียรติยศแก่ศิษย์เก่าดีเด่นทั้ง 3 ท่าน

รางวัลอาจารย์ตัวอย่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2567 ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นรอบด้านทั้งในด้านการสอนและการวิจัยเพื่อนำสังคมไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้ในระดับสากล รวมถึงได้อุทิศตนให้ส่วนรวมอย่างเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่

  1. รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง
    อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์
    ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างระดับรองศาสตราจารย์ – ศาสตราจารย์

  2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ร่มแสง
    อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
    ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างระดับอาจารย์ – ผู้ช่วยศาสตราจารย์

โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มอบโล่เกียรติยศแก่อาจารย์ดีเด่นคณะวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 ท่าน

ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานมหาวิทยาลัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2566
พนักงานมหาวิทยาลัย ประเภทวิชาการ ระยะเวลาการปฏิบัติงานติดต่อกันไม่เกิน 10 ปี

  1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรา ฉันทโรจน์ศิริ
    อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี

และรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งมอบให้กับผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ความสามารถ ความวิริยะอุตสาหะ ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนมีผลงานดีเด่นและดีเลิศในสาขาต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย สังคม และประเทศชาติ ได้แก่

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย
รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณี ธิติธัญญานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู
ศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คูหากาญจน์
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี

โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดี แก่ผู้ได้รับรางวัลทั้ง 3 ท่าน

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ นิทรรศการชุด “มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับคณะวิทยาศาสตร์” และ “Timeline จากวันนั้นสู่วันนี้ของคณะวิทยาศาสตร์” และประวัติของผู้ได้รับรางวัล ทั้ง 8 ท่าน และองค์ปาฐก ณ บริเวณโถงด้านล่างของอาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) อีกด้วย

เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์,
นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 21 ตุลาคม 2567