3 พฤษภาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งคณาจารย์และนักวิจัย เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาจารย์ และนักวิจัยได้เห็นการปฏิบัติจริงในภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปพัฒนางานวิจัยด้าน Battery Recycling ร่วมกัน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยมีอาจารย์และนักวิจัย ที่เข้าร่วมการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง, รองศาสตราจารย์ ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย, รองศาสตราจารย์ ดร.อรอุมา เขียวหวาน, รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ญา สุนินทบูรณ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โศรยา พรสุวรรณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อศักดิ์ ล้วนไพศาลนนท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญชนก รัตน์วิจิตร์เวช, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพพร เรืองสุภาภิชาติ, นายสิรภพ วงษ์เนียม และนางสาวอรวรรณ ไวทยะสิน
บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด : AMITA Technology (Thailand) Co., Ltd. เป็นโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแห่งแรกในอาเซียนที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตั้งอยู่ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้มีส่วนช่วยสนับสนุนประเทศไทยให้ขึ้นแท่นพร้อมเป็นแหล่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electrical Vechnical : EV Car) และอุตสาหกรรมกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System : ESS) ในระดับภูมิภาค และสามารถขยายกำลังการผลิตได้สูงสุด 50 GWh เพื่อเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะและระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัย เพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและใช้ต้นทุนไม่สูง
ซึ่งโรงงานที่ทางคณะศึกษาดูงานได้เดินทางไป ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ บนพื้นที่กว่า 91 ไร่ มีพื้นที่เฉพาะส่วนการผลิตกว่า 80,000 ตารางเมตร โดยโรงงานใช้การออกแบบด้วยระบบสายการผลิตให้ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่ Automatic Warehouse, AGV ขนของในสายการผลิต ตลอดจนเครื่องจักรต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต และมีการนำอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า Energy Storage System (ESS) ที่ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตเองภายในกลุ่มบริษัทฯ มาใช้ในโรงงาน เพื่อสร้างเสถียรภาพการจ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องจักรภายในโรงงาน อีกทั้งได้มีการพลิกพื้นที่ในชุมชนเขาดิน จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กลายเป็น Bluetech City เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน และจัดสรรที่ดินราคาถูกให้กับชาวบ้านอีกด้วย
โดยการศึกษาดูงานนอกสถานที่ในครั้งนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางอาจารย์และนักวิจัย จะได้รับประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทางด้านสายงาน และด้านการพัฒนาตัวบุคลากร ตลอดจนการพัฒนางานวิจัยที่มีอยู่ให้บรรลุผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ พร้อมร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกับทางภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไปพร้อม ๆ กัน อีกด้วย
เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวอรวรรณ ไวทยะสิน
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 3 พฤษภาคม 2567