ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับสมาคมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการนานาชาติ 7th IASCBC & AAT46

15 พฤษภาคม 2567 ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดประชุมวิชาการนานาชาติ 7th International Anatomical Science and Cell Biology Conference และการประชุมวิชาการสมาคมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 (7th IASCBC & AAT46) เปิดโอกาสให้นักวิจัยและนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนและยกระดับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กายวิภาคและชีววิทยาของเซลล์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 10 สาขาวิชา กับเครือข่ายนักวิจัยจากนานาชาติ

วิทยาศาสตร์กายวิภาคและชีววิทยาของเซลล์เป็นหนึ่งสาขาที่เก่าแก่ที่สุดในด้านการแพทย์ ซึ่งรวบรวมแก่นแท้และวิวัฒนาการของการดูแลสุขภาพและการแพทย์มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ความเป็นไปได้อันไร้ขอบเขตในอนาคต

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา วีรชาติยานุกูล รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมการศึกษาและศาลายา และรองศาสตราจารย์ ดร.สมลักษณ์ อสุวพงษ์พัฒนา หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพ.ณปกรณ์ แสงฉาย หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมพิธีเปิดประชุมวิชาการ และร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษ “Oxidative Stress and Inflammation on Are the Precipitating Causes of Aging and Age-Associated Diseases” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน เป็นผู้บรรยาย พร้อมเยี่ยมชมบูธนวัตกรรมเพื่อศึกษาและวิจัยด้านกายวิภาคศาสตร์ ณ โรงแรม ลองบีช การ์เด้น โฮเต็ล แอนด์ สปา เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

การประชุมวิชาการนานาชาติ 7th International Anatomical Science and Cell Biology Conference และการประชุมวิชาการสมาคมกายวิภาคศาสตร์แห่งประเทศไทย (7th IASCBC & AAT46) จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-17 พฤษภาคม 2567 ภายใต้ธีม ‘Integrative Anatomical Sciences and Biological Innovation’ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานจากภาครัฐ และเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ นักวิจัย บุคลากร และนักศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้เผยแพร่ผลงานวิจัย พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และเพิ่มพูนความรู้ในสาขากายวิภาคศาสตร์ ชีววิทยาระดับเซลล์ ประสาทวิทยาศาสตร์ มะเร็งและการรักษา กายวิภาคศาสตร์ทางคลินิก นวัตกรรมชีววิทยา การศึกษาทางการแพทย์ กระดูกเชิงนิติเวชศาสตร์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความสนใจจากนักกายวิภาคศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลกจำนวนกว่า 250 คน

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2567