คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Fundamental Biosafety for BSL-2 (ภาคภาษาไทย)” เสริมความรู้และทักษะการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

Activity Photo
31 มีนาคม – 1 เมษายน 2566 งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Fundamental Biosafety for BSL-2 (ภาคภาษาไทย)” เสริมความรู้และทักษะการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพอย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากลแก่อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์มงคลสุข
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ร่มแสง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์และประธานคณะกรรมการความคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงภาพรวมของการอบรมเชิงปฏิบัติการ “Fundamental Biosafety for BSL-2 (ภาคภาษาไทย)” ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพ ตลอดจนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ และแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อให้บุคลากรนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพให้สามารถทำงานกับเชื้อโรคได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเองและบุคคลทั่วไป โดยในครั้งนี้มีบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ เจ้าหน้าที่บริหารชีวนิรภัยของหน่วยงาน (BSO) นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับเชื้อโรคหรือพิษจากสัตว์ จากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวนกว่า 103 คน ซึ่งต้องขอขอบคุณคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์และเจ้าหน้าที่จากภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาพยาธิชีววิทยา ภาควิชาสรีรวิทยา กลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ หน่วยห้องปฏิบัติการเอนกประสงค์ (MDL) งานพันธกิจพิเศษ งานพัฒนาระบบ และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกรรมเป็นอย่างดี
ในการอบรมผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการฝึกอบรมภาคทฤษฎีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ และได้ฝึกปฏิบัติในเหตุการณ์จำลองเสมือนจริง ณ อาคารสตางค์มงคลสุข เพื่อพัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพ ให้ความรู้และดูแลตลอดการฝึกอบรมภาคปฏิบัติทั้งหมด 4 ฐานปฏิบัติการแก่ผู้เข้าอบรม และบริษัท เอสโคไลฟ์ไซเอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้าร่วมบรรยายให้ความรู้เชิงเทคนิคในการใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพแก่ผู้เข้าร่วมอบรม รวมถึงจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ของ บริษัท เอสโคไลฟ์ไซเอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท กิบไทย จำกัด (สำนักงานใหญ่) อีกด้วย โดยหลังจากจบการฝึกปฏิบัติ ผู้ที่ผ่านการอบรมทุกคนได้รับใบประกาศนียบัตรเป็นหลักฐานเพื่อรับรองสำหรับการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพต่อไป

เขียนข่าว : งานวิจัย
ตรวจสอบโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศักดิ์ ร่มแสง
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 5 เมษายน 2566