7 มิถุนายน 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม, รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ ประธานหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาชีวนวัตกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) พร้อมทั้งคณะผู้ทำงาน ได้ร่วมกันต้อนรับ ผู้บริหารและคณะผู้เยี่ยมชมจากสถาบันอาหารและภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนา ภายใต้ โครงการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ด้านอาหารจากพืช ปี 2566 ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
คุณนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา ที่ปรึกษาสถาบันอาหาร ได้มีการอธิบายเกี่ยวกับโครงการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ด้านอาหารจากพืช ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงาน F7 (S1P8) พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs : Innovation Driven Enterprise) ขนาดใหญ่ โดยมีผู้ให้ทุนคือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นในการยกระดับ SMEs ไปสู่ IDE โดยผ่านกลไกการสร้างความ สามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมให้กับ SMEs ผ่านคนกลาง เรียกว่า Intermediary โดยมีกิจกรรมการสนับสนุน ร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ออกแบบโครงการ เป็นพี่เลี้ยง จัดหา อำนวยการ และเชื่อมโยงเอกชนกลุ่มเป้าหมายกับหน่วยให้บริการพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับเอกชนกลุ่มเป้าหมายไปสู่ IDE ด้วยนวัตกรรม รวมถึงติดตาม ประเมินผล และให้คำแนะนำในการปรับปรุง และพัฒนาเอกชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสถาบันอาหารในฐานะหน่วยงาน Intermediary ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และวิเคราะห์สภาพเวดล้อมธุรกิจ และค้นหาโอกาสทางการตลาดให้แก่ บริษัท ซีวิค อโกรเทค จำกัด ซึ่งเป็น IDEs ภายใต้ความรับผิดชอบ
ประเด็นต่อมา รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน ได้มีการอธิบายเกี่ยวกับ เทคโนโลยีการปลูกสมุนไพร และแนวโน้มของเทคโนโลยี ที่มีโอกาสทางการตลาดสำหรับระบบปลูกพืชแบบ PFAL (Plant Factory With Artificial Lighting) โดยเป็นการทดแทนแสงแดดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งเทคโนโลยี PFAL สามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ เช่น ช่วงคลื่นแสง ความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุต่างๆ และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต โดยเลือกใช้หลอดไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดของแสง เนื่องจากให้ความร้อนน้อยกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์ ประหยัดไฟมากกว่า และสามารถเลือกสีของแสงตามความเหมาะสมของต้นพืชได้ โดยในปัจจุบันการปลูกพืชด้วยระบบ Plant Factory ยังถือว่ามีต้นทุนที่สูงอยู่ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ต้องใช้กับระบบแสงเทียมสำหรับปลูกพืช การควบคุมอุณหภูมิจากหลอดไฟไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งใช้เครื่องปรับอากาศเข้าช่วย ดังนั้นโรงงานผลิตพืชจึงเหมาะสำหรับการปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างพืชในกลุ่มสมุนไพรทางการแพทย์ หรือกลุ่มพืชที่ใช้บริโภคโดยปลูกในเมืองแล้วให้ลูกค้าเข้ามาซื้อผลผลิตถึงแหล่งเพาะปลูก ซึ่งไม่ต้องเสียค่าขนส่ง นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยในเรื่องของการยกระดับเทคโนโลยีการปลูกพืชในอาคาร เพื่อผลิตพืชผักสมุนไพรและเครื่องเทศ สำหรับนวัตกรรมอาหารสุขภาพและสารสำคัญจากพืช
และสุดท้าย คุณชาคริต คนธรรพ์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีวิค อโกรเทค ได้มีการอธิบายและนำเสนอโปรไฟล์ของทางบริษัท ซีวิค อโกรเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจ LEDs Screen ในประเทศไทย โดยในตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ได้มีการมุ่งพัฒนาเพื่อเป็นผู้นำในการส่งมอบนวัตกรรมด้าน LEDs อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายป้าย LEDs Full Colour Screen Display, ป้าย LEDs, หลอด LED T8, หลอด LED BULB, LEDs Street Light และผลิตภัณฑ์ LEDs อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการการันตีคุณภาพด้วยความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ส่งออกไปจำหน่ายกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่ส่งออกยากที่สุด อย่างประเทศญี่ปุ่น Civic AgroTech ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015 ซึ่งนับเป็นรายแรกสำหรับธุรกิจ LEDs Display ของประเทศ และมาตรฐาน ISO 14001 : 2015 และเพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจ LEDs ด้านนวัตกรรมทางการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ ทางบริษัทก็ได้มีการเล็งเห็นถึงธุรกิจ LEDs ในอนาคต และโอกาสที่สอดคล้องกันระหว่าง Pain ปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นข้อจำกัดในการปลูกพืช และ Trend ความสนใจของผู้คนในการทำ Urban farming หรือเกษตรในเมืองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งนวัตกรรมการเกษตรยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเวลาเดียวกัน จึงได้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ “LEDs สำหรับปลูกพืชแบบ Indoor” อุปกรณ์เสริมไฟปลูกพืช และให้บริการด้านระบบปลูกแบบ Plant Factory with Artificial Lighting อย่างครบวงจร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจนถึงปัจจุบัน
เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 7 มิถุนายน 2567