30 มิถุนายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หารือเพื่อมองหาโอกาสในการสร้างความร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO) หรือ ‘เจโทร’ ในการส่งเสริมการวิจัย สร้างนวัตกรรม พร้อมพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัย และจากโครงการ SPACE-F เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกัน ณ SPACE-F ชั้น 6 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท ทีนิตี้ ทีม จำกัด ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจาก JETRO นำโดย Ms. Yukako Wakasugi, Vice president Mr. Kensuke Uchiyama, Cheif officer และ Ms. Napaporn Rianthong, Invest Japan Coordinator ในโอกาสมาเยือนประเทศไทย เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการขับเคลื่อนนวัตกรรมโดยการบ่มเพาะ Startup ในรั้วมหาวิทยาลัยตามโจทย์ของภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทอาจิโนโมโตะ จำกัด, บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบไทย จำกัด, บริษัทบริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) พร้อมหารือแนวทางสร้างความร่วมมือในการจับคู่ Startups จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจากโครงการ SPACE-F ที่มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ให้กับบริษัทเอกชนที่มีความร่วมมือกับ JETRO ที่สนใจอยากลงทุน เพื่อการสร้างระบบนิเวศทางนวัตกรรมและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
JETRO มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเสริมสร้างการค้าและการลงทุนระดับทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่น ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนร่วมในการเพิ่มการส่งออกของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น และสร้างความตระหนักรู้ถึงความน่าดึงดูดใจของสภาพแวดล้อมการลงทุนในประเทศไทยในส่วนของชุมชนธุรกิจของญี่ปุ่น นอกจากนี้ JETRO กรุงเทพฯ ยังเป็นสาขาใหญ่ของสำนักงาน JETRO ในต่างประเทศกว่า 80 แห่ง และเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างสำนักงานที่ตั้งอยู่ในเอเชียอีกด้วย
ในการหารือคณะวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีเกี่ยวกับความยั่งยืน การส่งเสริมการวิจัย โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาและอาจารย์ได้เชื่อมต่อกับภาคเอกชนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) และการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นให้เกิดขึ้นภายในรั้วคณะ รวมถึงการร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศสตาร์ทอัพกับภาคเอกชนผ่านโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะและเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารระดับโลก
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการบ่มเพาะทีมสตาร์ทอัพต่าง ๆ กว่า 20 ทีมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในด้าน Food tech (6 ทีม), Agriculture tech (6 ทีม), Green tech (3 ทีม), Medical & Health tech (3 ทีม) และ Robotic tech ( 2 ทีม) ที่จัดตั้งขึ้นโดยอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยในรั้วคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทาง JETRO ให้ความสนใจและอยากเรียนเชิญให้ไปสมัครเข้าร่วมโครงการการสนับสนุนสตาร์ทอัพของ JETRO ต่อไป
ด้าน JETRO ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการดำเนินงาน รวมถึงความสนใจในการลงทุน และให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยในปีนี้ หนึ่งในสตาร์ทอัพของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดลที่ถูกทาบทามให้เข้าร่วมโครงการฯ คือ บริษัท ทีนิตี้ ทีม จำกัด เป็นสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมในการผลิตและปรับสภาพเส้นใยจากใบสับปะรดสำหรับใช้เป็น Green material ให้เป็นวัสดุดูดซับสารพิษในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี และนางสาวนันทินี เทศกาล นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิชาเคมี โดยในอดีตที่ผ่านมา ได้มีอีกหนึ่งสตาร์ทอัพของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ได้แก่ เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จํากัด ก่อตั้งโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีจมูกอิเล็กโทรนิกส์และอุปกรณ์เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้ว ซึ่งได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการฯ ของ JETRO มาแล้ว
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย: นางสาวพูนทรัพย์ มหานันทโพธิ์ และ
นางสาวนาถประภา หน่อนิล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
จำนวนคนดู: 57