ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จัดงานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ในประเทศไทย ครั้งที่ 12

6 มิถุนายน 2567 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จัดงานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ในประเทศไทย หรือ TST ครั้งที่ 12 Biodiversity for Wealth and Sustainability เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอนุกรมวิธานและชิสเทมาติคส์ ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ในโอกาสอันดีนี้ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้เกียรติเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงานโดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร.ประหยัด โภคฐิติยุกต์ ที่ปรึกษาภาคชีววิทยา และคณาจารย์ภาควิชาชีววิทยาร่วมต้อนรับ

และในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ Biodiversity’s Impact on Human Health and Well-being” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรวิทย์ สิตปรีชา หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา กล่าวรายงาน และผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ พร้อมด้วยอาจารย์เกษียณ คณาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ณ อาคารบรรยายรวม L-01 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานประชุมวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ในประเทศไทยถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ที่สนใจงานด้านอนุกรมวิธานและชิสเทมาติคส์ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ได้แก่ การนำเสนอผลงานวิชาการใน 5 กลุ่ม ได้แก่ สัตว์ พืช จุลินทรีย์และการใช้ประโยชน์ นิเวศวิทยา และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในลุ่มแม่น้ำโขง ในรูปแบบบรรยายจำนวนกว่า 53 เรื่อง และการนำเสนอรูปแบบโปสเตอร์จำนวนกว่า 30 เรื่อง ปาฐกถาและการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 7 หัวข้อ การเสวนาวิชาการและการเสวนาพิเศษ 3 หัวข้อ พร้อมด้วยกิจกรรมทัศนศึกษาและนิทรรศการ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนหลายหน่วยงาน

ทั้งนี้ งานวิจัยด้านอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์นับเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งต่อยอดไปสู่การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และยังเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของการวิจัยทางชีวภาพในแขนงต่าง ๆ ซึ่งนำไปสู่การค้นพบและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน การประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายนักวิจัยด้านอนุกรมวิธานและชิสเทมาติคส์ที่เข้มแข็ง และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 6 มิถุนายน 2567