30 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2568 ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พรชัย มาตังคสมบัติ (CENMIG) มหาวิทยาลัยมหิดล และภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และ VERDI Consortium จัดประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการเรื่อง “การสร้างแบบจำลองการระบาดของโรคติดเชื้อโดยใช้ข้อมูลจีโนม (modeling infectious disease outbreaks using genomic data workshop)” ส่งเสริมศักยภาพการวิจัยทางด้านการสร้างแบบจำลองทางระบาดวิทยาแก่นักวิจัยไทย เพื่อรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อในอนาคต ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างแบบจำลองการระบาดของโรคติดเชื้อโดยใช้ข้อมูลจีโนม (modeling infectious disease outbreaks using genomic data workshop)” เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพการวิจัยทางด้านการสร้างแบบจำลองทางระบาดวิทยาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาผ่านการบรรยายและลงมือปฏิบัติจริงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งตลอดระยะเวลาจัดกิจกรรม 5 วัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับฟังการบรรยาย และฝึกปฏิบัติกับทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองการระบาดของโรคติดเชื้อจาก ISI Foundation ประเทศอิตาลี นำโดย Ciro Cattuto Scientific Director, Daniela Paolotti Senior Research Scientist in Digital Epidemiology, Nicolò Gozzi Senior Research Scientist in Digital Epidemiology และ Mattia Mazzoli Postdoctoral Researcher in Digital Epidemiology ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนักวิจัยด้านระบาดวิทยาและโรคติดเชื้อทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผู้ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมจากจังหวัดในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย และจากประเทศเวียดนาม อีกด้วย
ในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวเปิดกิจกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล หัวหน้าโครงการ และ รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา พร้อมด้วยคณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดและร่วมรับฟังการบรรยาย ณ ห้อง L03 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
โดยกิจกรรมในวันแรกเป็นการบรรยายสาธารณะโดย ทีมวิจัยจาก ISI Foundation เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา รวมถึงผู้ที่สนใจ จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมฟังการบรรยายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมวิทยากร
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2568 จะเป็นการปฏิบัติการซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงมือวิเคราะห์ข้อมูลด้วยตนเอง ซึ่งแบ่งออกเป็นการฝึกปฏิบัติการขั้นพื้นฐาน (Basic level) เป็นระยะเวลาสองวัน โดยมีผู้เข้าลงทะเบียนร่วมกิจกรรมถึง 39 คน และการฝึกปฏิบัติการขั้นสูง (Advanced level) ระยะเวลา 2 วัน โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 12 คน
กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัย นักศึกษา และผู้ที่ปฏิบัติงานด้านระบาดวิทยาและโรคติดเชื้อ ให้มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา การบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่และจีโนม การสร้างเครือข่ายการติดต่อของโรคแบบความละเอียดสูง การสร้างแบบจำลองการระบาดของโรคติดเชื้อ ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยในประเทศไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทำให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อในปัจจุบัน อันนำไปสู่การขยายเครือข่ายความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจโรคติดเชื้อและการระบาดของโรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขในระดับชาติและระดับโลกในอนาคต
เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 30 มิถุนายน 2568