10 มิถุนายน 2568 สภาอาจารย์ และหน่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการเสวนาพิเศษ “คนละ Gen คนละใจ” ถอดรหัสการสื่อสารข้ามวัยในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กรกมล เลิศสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวุฒิ เจริญสุทธิวรากุล อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาคมคณะวิทยาศาสตร์ และส่วนงานในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงบุคคลภายนอก เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดกว่า 400 คน ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวต้อนรับและกล่าวเปิดกิจกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปวีณา ไตรเพิ่ม ประธานสภาอาจารย์ พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชชุดา พยุหกฤษ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล พร้อมด้วยผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมเป็นเกียรติและรับฟังการเสวนาอย่างคับคั่ง
สำหรับการเสวนาพิเศษ อาจารย์ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา ได้นำผู้ฟังไปทำความเข้าใจความแตกต่างทางพฤติกรรมของคนแต่ละ Generation พร้อมทั้งยกตัวอย่างและอธิบายเพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นภาพที่ชัดเจน และให้ความรู้เกี่ยวกับภาษากายซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด การมีสติและรู้ทันอคติของตนเอง การคัดกรองโรคซึมเศร้าในเบื้องต้น การเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะบุคลิกภาพแบบต่าง ๆ โดยยกตัวอย่างบุคลิกภาพที่เป็นพิษในที่ทำงานพร้อมแนะนำวิธีการรับมือ รวมถึงเล่าถึงบุคลิกภาพสายดาร์กซึ่งมักจะก่อความเดือดร้อนและสร้างความเสียหายให้สังคม นอกจากนั้นยังให้แนวทางการสื่อสารระหว่าง Generation อย่างเข้าใจในแง่จิตวิทยา และข้อแนะนำสำหรับฝ่ายบุคคลขององค์กรในการสรรหาและการคัดกรองบุคลากร เพื่อให้ได้คนที่มีทักษะตรงกับความต้องการขององค์กร โดยตลอดการเสวนาพิเศษ และช่วงถาม-ตอบ ท้ายการเสวนาเต็มไปด้วยบรรยากาศสนุกสนานและเป็นกันเอง
กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติงานซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานรวมถึงการดำเนินชีวิตได้จริงแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่องค์กรในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของบุคลากรแต่ละ Generation ซึ่งนำไปสู่แนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดความขัดแย้ง การส่งเสริมสวัสดิการที่ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรอย่างแท้จริง การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์อีกด้วย
เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 10 มิถุนายน 2568