คณะวิทย์ ม.มหิดล จัดกิจกรรม “SCGC-Mahidol Science Symposium Day 2: Advanced Functional Materials for the Future” ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยเชิงพาณิชย์ร่วมกับ SCGC สร้างOpen Innovation เพื่อพัฒนาวัสดุที่ยั่งยืนและวัสดุอัจฉริยะ

27 กรกฎาคม 2566 งานวิจัย ร่วมกับงานพันธกิจพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ จัดกิจกรรม “SCGC-Mahidol Science Symposium Day 2” ในหัวข้อ “Advanced Functional Materials for the Future” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด มหาชน (SCGC) และ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจ และส่งเสริมงานวิจัยเชิงพาณิชย์ร่วมกันให้กับประเทศไทยและระดับสากล โดยมีทีมนักวิจัยของทาง SCGC ให้การบรรยายพิเศษ พร้อมเปิดเวทีให้อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ กับทีมนักวิจัยของ SCG ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดรวมกว่า 100 คน
ในโอกาสนี้ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รศ. ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ญา สุนินทบูรณ์ ผู้ช่วยคณบดี พร้อมด้วยหัวหน้าภาควิชาฯ และผู้บริหารของ SCGC นำโดย ดร.สุเมธ เจริญชัยเดช Head of Central Research and Development ดร.ไพรัตน์ พิริยวิรุตม์ Senior Researcher คุณพรชัย แสงรุ่งศรี I2P Center Manager ดร. ทศพล คำแน่น Senior Researcher และทีมนักวิจัย SCGC ทั้งหมดกว่า 40 คน มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี ได้กล่าวว่า ผมมีความเชื่อมั่นในบริษัทที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการประกอบกิจการ นี่คือสิ่งที่จะเติบโต ผู้คนในคณะวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ มีคำกล่าวของคณะวิทยาศาสตร์ที่ว่าเราจะเป็นสติของประชา ปัญญาของสังคม ซึ่งการนำพาวิทยาศาสตร์ไปสู่ผู้ใช้ รวมถึงทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นสิ่งที่เราต้องทำร่วมกับพันธมิตร คณะวิทยาศาสตร์และ SCGC เรามีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสรรค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เรียนรู้และเติบโตไปสู่เป้าหมายไปด้วยกัน
กิจกรรม SCGC-Mahidol Science Symposium ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการวิจัยเพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ของสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) ระหว่างบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด มหาชน (SCGC) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2566 โดยในครั้งแรกได้จัดกิจกรรม “SCGC-Mahidol Science Symposium Day 1” ขึ้นภายใต้หัวข้อ Healthcare, Well-being & Sustainability เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนในครั้งนี้ การสัมมนาจะมุ่งเป้าไปที่หัวข้อ Advanced Functional Materials for the Future ซึ่ง ดร.ไพรัตน์ พิริยวิรุตม์ Senior Researcher จาก SCGC ได้แนะนำกลุ่มวิจัยและเล่าถึงโจทย์วิจัยที่ทางบริษัทให้ความสนใจในการบรรยายในหัวข้อ Advanced Sustainable Polymeric Materials และเสริมด้วยการในบรรยายหัวข้อ Outside in Trends โดย คุณพรชัย แสงรุ่งศรี I2P Center Manager จาก SCGC ซึ่งคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์จากภาควิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีวเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ และกลุ่มสาขาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ ก็ได้นำเสนองานวิจัยด้านความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ความสนใจของภาคเอกชน อาทิ การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต วัสดุพอลิเมอร์จากไคโตซาน วัสดุจากราไมซีเลียม ยีสต์ การพัฒนาวัสดุผลิตโซลาร์เซลล์ในอาคาร วัสดุที่ยั่งยืนสำหรับการอัปไซเคิลและการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีรวมถึงปฏิกิริยาเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิธีการคำนวณสำหรับวัสดุควอนตัมและควอนตัมอัลกอริทึมสำหรับวัสดุต่าง ๆ การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และอีกมากมายในรูปแบบ Infographic Presentation และ Poster Presentation ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นสู่การพัฒนาวัสดุที่ยั่งยืนและวัสดุอัจฉริยะร่วมกันได้ในอนาคต
สำหรับความคืบหน้าในภาพรวมของกิจกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ทศพล คำแน่น Senior Researcher จาก SCGC ได้เผยถึงความคืบหน้าของความร่วมมือด้านการวิจัยจากกิจกรรม SCGC-Mahidol Science Symposium ในรูปแบบซีรีส์ ซึ่งจะใช้เป็นเวทีจุดประกายให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมในหัวข้อธีมต่าง ๆ ร่วมกันระหว่างนักวิจัยของทั้ง 2 หน่วยงาน และร่วมเสนอโครงการรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐอีกหลายโครงการ พร้อมเปิดโอกาสให้ทีมวิจัยข้ามหน่วยงานเล่าประสบการณ์การสร้างทีม และขอทุนสนับสนุนจากภาครัฐอีกด้วย
และในพิธีปิด ดร.สุเมธ เจริญชัยเดช Head of Central Research and Development จาก SCGC ได้กล่าวขอบคุณทีมงานทั้ง 2 หน่วยงานที่สละเวลาอันมีค่ามาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และมุมมองในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในวันนี้ ขอให้ทีม SCGC และคณะวิทยาศาสตร์ รักษาโมเมนตัมที่ดีของความร่วมมือนี้ไว้ และขอขอบคุณผู้จัดงานที่ให้การต้อนรับทีม SCGC อย่างอบอุ่นเป็นกันเอง ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดกิจกรรมนี้ในหัวข้ออื่น ๆ และการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 27 กรกฎาคม 2566