คณะวิทย์ฯ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบ้านต้อนรับ นักศึกษานานาชาติในโครงการ NTU ASEAN Summer 2023 เยี่ยมชมโครงการ Startup เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

24 กรกฎาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับผู้บริหาร รองศาสตราจารย์ ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล และรองศาสตราจารย์ ดร. ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี ให้การต้อนรับนักศึกษานานาชาติ จำนวน 72 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาในโครงการ NTU ASEAN Summer 2023 จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-29 กรกฎาคม 2566 ในโอกาสเข้ารับฟังการบรรยายและร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะนักศึกษาได้เข้าเยี่ยมชมโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนสำหรับด้าน “Food Tech Startup” ในประเทศไทย โดยการริเริ่มการพัฒนาโปรแกรมการบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubator) สำหรับ Startup ที่อยู่ในระยะบ่มเพาะ และโปรแกรมการสนับสนุนผู้ประกอบการ (Accelerator) สำหรับ Startup ที่อยู่ในระยะเร่งการเติบโต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี ร่วมกับ SPACE-F Alumni คุณพีรดา ศุภรพันธ์ CEO บริษัท Tasted Better และ Managing Director, Tasted Vision GmbH ซึ่งเป็น Startup จากโครงการเร่งการเติบโต รุ่นที่ 3 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ และ CTO บริษัท Advanced Greenfarm จากโครงการบ่มเพาะ รุ่นที่ 1 เป็นผู้บรรยายและนำเยี่ยมชมโครงการ
นอกจากนี้คณะนักศึกษานานาชาติยังได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (Thailand Center of Excellent for Life Science: TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับการวิจัยด้านการศึกษากลไกการเกิดโรค และการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยโดยมี ดร. ณิชกานต์ สมัยนุกุล นำเยี่ยมชม
การเข้าเยี่ยมชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับฟังการบรรยายในโครงการ SPACE-F และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และเพิ่มพูนความรู้ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ รวมไปถึงทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ กระบวนการคิดการออกแบบ และการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และนำมาประยุกต์เข้ากับการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGS) อาทิ เป้าหมายการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good health and well-being) เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) และแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) เป็นต้น

เขียนข่าว : นายเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ และ นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 24 กรกฎาคม 2566