20 กรกฎาคม 2566 กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน หัวหน้ากลุ่มสาขาวิชา พร้อมด้วยนักศึกษาระดับปริญญาตรี รวมกว่า 23 คน เยี่ยมชมโครงการ SPACE-F ผ่านกิจกรรม Knowing Startup Business ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยพานักศึกษาไปสำรวจโลกของ Startup สร้างแรงบันดาลใจในการเริ่มสร้างธุรกิจด้วยการต่อยอดองค์ความรู้ในสาขาชีวนวัตกรรมซึ่งครอบคลุมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีทางการแพทย์และความงาม สู่นวัตกรรมที่ยั่งยืน ณ SPACE-F ชั้น 6 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และคุณอนุสรา จิตราธนวัฒน์ Government Affair จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในการต้อนรับอาจารย์และนักศึกษาอย่างเป็นกันเอง พร้อมแนะนำโครงการ SPACE-F ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ FoodTech Startup ในการสร้างนวัตกรรมยกระดับครัวไทยสู่ครัวโลก และช่วยให้ Startup ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายพันธมิตร อาทิ ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด บริษัท บริษัท RISE ศูนย์เร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร และล่าสุด บริษัท ลอตเต้ จำกัด ในเวลาต่อมา ซึ่ง SPACE-F มีทั้งโปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator) สำหรับผู้เริ่มต้นทำ Startup และโปรแกรมเร่งความเร็วในการเติบโต (Accelerator) สำหรับ Startup ที่มีผลิตภัณฑ์แล้วและต้องการสร้างเครือข่ายเพื่อขยายตลาด และระดุมทุนจากนักลงทุน โดยเปิดรับ FoodTech Startup เข้าร่วมโครงการจากทั่วโลก
และยังได้รับเกียรติจาก SPACE-F Alumni คุณพีรดา ศุภรพันธ์ CEO บริษัท Tasted Better และ Managing Director, Tasted Vision GmbH ซึ่งเป็น Startup จากโครงการเร่งการเติบโต รุ่นที่ 3 และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษุวัต สงนวล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ และ CTO บริษัท Advanced Greenfarm จากโครงการบ่มเพาะ รุ่นที่ 1 มาร่วมเล่าประสบการณ์การเดินทางไปบนเส้นทางผู้ประกอบการของตนเองตั้งแต่จุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจในการทำ Startup สิ่งที่สำคัญในการทำ Startup เช่น การสร้างทีม การมองหาแหล่งทุน การนำเสนอผลิตภัณฑ์บนเวทีการแข่งขันต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน และตอบข้อสงสัยและให้คำแนะนำแก่น้อง ๆ อย่างเต็มที่ พร้อมนำชมห้องปฏิบัติการในพื้นที่ SPACE-F อีกด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยงานภายนอกที่สนใจ สามารถติดต่อเพื่อนำอาจารย์และนักศึกษาเข้าศึกษาดูงาน หรือร่วมงานกับ Startup ในโครงการได้ที่หน่วยพันธกิจพิเศษด้านพัฒนาธุรกิจ หรือ BDU (Business Development Unit) โทร. 02 201 5967-8
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย :
ภาพข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566
จำนวนคนดู: 139