ม.มหิดล เปิดหลักสูตร “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” แบบไฮบริด หลักสูตรแรกของไทย เสริมความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศ

19 กรกฎาคม 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบริษัท Degree Plus ในเครือบริษัท LEARN Corporation จัดงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” แบบไฮบริด เสริมความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นางจุฑามาศ ศิริปาณี หัวหน้างานพระราชบัญญัติ เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายสุธี อัสววิมล กรรมการ บริษัท ดีกรีพลัส จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์นวัตกรรม บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องประชุมสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ในปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) และการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจัดอบรมที่เข้าถึงได้ง่ายและครอบคลุมเนื้อหาที่ทันสมัยเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาทักษะและความรู้ของบุคลากร อย่างไรก็ตาม ในอดีตการอบรมด้านนี้ยังคงมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงและความสะดวกในการเรียนรู้

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับบริษัท Degree Plus พัฒนาหลักสูตรอบรม “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” ในรูปแบบไฮบริด ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยหลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบเพื่อให้สามารถรองรับผู้เรียนได้มากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทันสมัย และเนื้อหาที่ครอบคลุมและเข้มข้นตามข้อกำหนดของกฎหมาย เสริมด้วยการฝึกปฏิบัติแบบออนไซต์กับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่

นางจุฑามาศ ศิริปาณี หัวหน้างานพระราชบัญญัติ เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เป็นต้นมา นับจนถึงปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่ 9 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและ ป้องกันอันตรายต่อสาธารณชนอันเกิดจากเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงประชาชน ตระหนักและมองเห็นผลกระทบที่ชัดเจนของการควบคุมเชื้อโรคภายใต้การบังคับใช้พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ฯ เพื่อให้การดำเนินการกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์เป็นไปด้วยความถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานประชาชน และสิ่งแวดล้อม หน่วยงานและผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการเกี่ยวข้องกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผู้ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ฯ พ.ศ. 2561 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการกับเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดนั้น ผู้ดำเนินการและผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องได้รับการอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety และ Biosecurity) ตามหลักสูตรของหน่วยงานหรือองค์กรที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศรับรอง และต้องได้รับการอบรมซ้ำอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก 3 ปี

ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศรับรองหน่วยงานที่มีหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีเนื้อหา และระยะเวลาอบรมตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้วจำนวน 24 หลักสูตร เป็นหลักสูตรของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรองคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่มีหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพในรูปแบบไฮบริด เป็นหน่วยงานแรก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมพ.ศ. 2566

ด้านมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ BSL-2 ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จำนวน 7 หลักสูตร ซึ่งมากที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นหลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์จำนวน 2 หลักสูตร และหนึ่งในนั้นเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยในรูปแบบไฮบริด คณะวิทยาศาสตร์ถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและพัฒนาหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ ช่วยยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการศึกษา รวมถึงพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในด้านความปลอดภัย มุ่งสู่การเป็นสถาบันชั้นนำในระดับสากลและเสริมความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทยเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) เป็นส่วนสำคัญที่คณะวิทยาศาสตร์ใส่ใจเพื่อยกระดับมาตรฐานงานวิจัยสู่ระดับสากลอย่างต่อเนื่อง คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดหลักสูตรอบรม “Fundamentals in Biosafety for BSL-2” ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 ในรูปแบบออนไซต์ ทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาษาไทย โดยมีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า 1,000 คน และได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่เข้ารับการอบรม รวมถึงปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษามาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยร่วมกับบริษัท Degree Plus เครือบริษัท LEARN Corporation ผู้นำนวัตกรรมด้านการศึกษา ออกแบบหลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพภายใต้ชื่อ “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” ซึ่งมีรูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบผสมผสาน สามารถตอบโจทย์ผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาความรู้และทักษะครบตามข้อกำหนดของหลักสูตร และง่ายต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย อันนำไปสู่การยกระดับวัฒนธรรมความปลอดภัยของประเทศไทยในอนาคต

ในหลักสูตร “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เนื้อหาภาคบรรยายแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท Degree Plus เมื่อเรียนรู้ในภาคบรรยายเสร็จสิ้น ผู้อบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรจากระบบในภาคบรรยาย เพื่อนำมาขอเข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการ ฝึกทักษะในภาคปฏิบัติด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลาครึ่งวัน และทำแบบทดสอบประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ เมื่อทดสอบผ่านเกณฑ์ 70% จึงจะได้รับใบประกาศนียบัตรผ่านการอบรมเต็มหลักสูตรที่สามารถใช้ได้ตามกฎหมาย พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558

นายสุธี อัสววิมล ผู้บริหารบริษัท Degree Plus ในเครือบริษัท LEARN Corporation กล่าวว่า เสริมเกี่ยวกับ platform การเรียนรู้ในภาคทฤษฎีซึ่งเป็นการบรรยายเนื้อหาว่า บริษัท Degree Plus เชื่อว่าการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันต้อง มีทั้งความเข้มข้นทางวิชาการ (Academic Rigor) และการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อให้ตกผลึกเป็นทักษะในการทำงาน (Job-Relevant Skills) เพื่อตอบโจทย์ Lifelong Learning Beyond Degrees ทางบริษัทได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ ออกแบบบทเรียนออนไลน์ ที่รวมสาระสำคัญของการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ จำนวน 10 บทเรียน โดยในแต่ละบทเรียนจะมีหัวข้อย่อยของ แต่ละประเด็น โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อละไม่เกิน 15 นาที เพื่อให้ผู้เรียนได้ Focus กับเนื้อหา และเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถย้อนกลับ ปรับเพิ่มหรือลดระดับความเร็วของวิดีโอได้ ซึ่งใช้เวลาในการเรียนรู้เฉลี่ย 2-3 บทเรียนต่อสัปดาห์ รวมระยะเวลา 1 เดือน และกำหนดให้มีการทำแบบทดสอบหลังการเรียนเพื่อทบทวนความรู้ พร้อมทั้งวัดความเข้าใจของผู้เรียนอีกด้วย นอกจากการเรียนในภาคทฤษฎีดังกล่าว ในแต่ละสัปดาห์จะมีชั่วโมงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านระบบ virtual meeting classroom จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมการเรียนแบบ Active Learning ผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถามตอบข้อสงสัยร่วมกับวิทยากรภาคบรรยายและผู้เข้าเรียนท่านอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ เราตั้งเป้าให้หลักสูตร “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” ในรูปแบบ Hybrid ครอบคลุมผู้เรียนจำนวน 1,000 คนต่อปี เพื่อสนองความต้องการของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อย่างทั่วถึง และผลักดันการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไทยสู่อนาคตต่อไป

ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวปิดท้ายว่า หนึ่งในพันธกิจสำคัญของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต คือ การบริหารและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัยของนักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคคลภายนอกที่ต้องการพัฒนาความรู้/ทักษะ (reskill/upskill) ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) หลักสูตรอบรมด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ “Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2” ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรแบบไฮบริดหลักสูตรแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นับเป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จในการบริหารและส่งเสริมตามพันธกิจของศูนย์ฯ ในด้านการศึกษา ที่สร้างหลักสูตรฯ มาตรฐานตามกฎหมายที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยังสามารถพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อก่อโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของหลักสูตรฯ ที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมในการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามอัธยาศัยของผู้เรียนเป็นสำคัญอีกด้วย

สำหรับการจัดการอบรมในครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ คณะวิทยาศาสตร์ขอเชิญชวนทุกท่านที่ปฏิบัติงานด้านเชื้อโรคและพิษจากสัตว์สมัครเข้าร่วมการอบรม Essentials in Biosafety and Biosecurity for BSL-2 โดยหวังว่าหลักสูตรนี้จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ตอบสนองต่อความต้องการและความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนในการเพิ่มพูนความรู้ และทักษะการปฏิบัติการที่เหมาะสมในการดำเนินกิจกรรมให้มีความปลอดภัยแก่ตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในอนาคต

อ่านข้อมูลหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/4f8z4ZG

เขียนข่าว :  นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2567