คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
5 กุมภาพันธ์ 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี, ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และทีมคณาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากทาง UK PACT ภายใต้โครงการ “Enhancing Public Transport Routing to Minimize PM2.5 Exposure in Bangkok” นำโดยหัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนันท์ ลิ่วเฉลิมวงศ์ และสมาชิกทีมวิจัย อาจารย์ ดร.ณัฐนรงค์ ขจรศักดิ์สุเมธ และ อาจารย์ ดร.วศิน ผดุงเวช ร่วมให้การต้อนรับสมาชิกทีม UK PACT Programme นำโดย Mr. Matthew Noble : Head of UK PACT Programme Management, FCDO , Ms. Sophie Worrall : ASEAN and Thailand Lead, UK PACT, FCDO , Ms. Thanawan Tangthanasup : UK PACT Programme Manager – Thailand, British Embassy Bangkok , Ms. Sukontip Pinso : Climate Officer, British Embassy Bangkok และ Ms. Kanokporn Kupatavetin : UK PACT Country Fund Assistant, Arup เพื่อหารือความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมร่วมกัน ณ ห้องประชุม K101 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
UK PACT (Partnering for Accelerated Climate Transitions) เป็นโครงการที่สนับสนุนโดย กระทรวงการต่างประเทศ เครือจักรภพ และการพัฒนา สหราชอาณาจักร (FCDO) และ กรมความมั่นคงพลังงานและ Net Zero (DESNZ) โดยตัวโครงการได้มีการส่งเสริมเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจโลกให้มีการปล่อยคาร์บอนน้อยลง ซึ่งได้มีความสอดคล้องกับโครงการ “Enhancing Public Transport Routing to Minimize PM2.5 Exposure in Bangkok” ของทีมคณาจารย์จากภาควิชาคณิตศาสตร์ ที่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ การเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 จากกลุ่มผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะภายในกรุงเทพฯ โดยเน้นไปที่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ที่จะต้องมีการพึ่งพาระบบการขนส่งสาธารณะในราคาที่ประหยัด
โดยได้มีการพัฒนาและใช้ข้อมูลจากหลากหลายทางเพื่อจำลองสถานการณ์การเดินทาง และคาดการณ์เกี่ยวกับการเผชิญกับฝุ่น PM2.5 ในเส้นทางและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ผ่านการพัฒนาในรูปแบบของ Application “Bus vs PM2.5 in Bangkok V 0.1.1” สำหรับให้คำแนะนำการเดินทางแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้ผู้เดินทางลดการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศมากยิ่งขึ้น โดยความคืบหน้าของโครงการในช่วงไตรมาสแรก ได้มีการร่างเอกสารจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และอัลกอริทึม บริเวณที่มีการจราจรแออัดภายในเขตกรุงเทพฯ รวมไปถึงการออกแบบทางเทคนิคสำหรับใช้งานบน Application และจัดทำคลังข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทาง ตารางเวลาเดินรถประจำทาง และข้อมูลคุณภาพอากาศอย่างครอบคลุม
คณะวิทยาศาสตร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการหารือร่วมกับสมาชิกทีม UK PACT Programme ในครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนและส่งเสริมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทางภูมิอากาศระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดในด้านของการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อออกสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมอย่างเป็นวงกว้าง และสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้อย่างหลากหลาย
เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568