10 กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) เปิดเวทีเสวนาวิชาการ “ทางเลือกในการตรวจโควิด-19 สำหรับประชาชนในยุคโอมิครอน!!” Covid-19 testing: Current and alternative (future) methods ในรูปแบบ online ผ่านทาง Zoom meeting และ Facebook live ให้ข้อมูลทางเลือกในการตรวจโควิด – 19 ในยุคโอมิครอน โดย 4 ผู้เชี่ยวชาญ และผู้พัฒนาเทคโนโลยีตรวจโควิด – 19 ในไทยและต่างประเทศ พร้อมอัปเดตเทคโนโลยีการตรวจโควิด – 19 สุดล้ำ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สนใจร่วมกว่า 97 คน
ในการเสวนาในครั้งนี้วิทยากร ทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ Mr. William Whittington, Chief Operations Officer (COO) จากบริษัท Tiger Tech Solutions, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.อกนิษฐ์ วงศ์บุญมาก ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท เซโนสติกส์ จำกัด (Zenostic Co., Ltd.) รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร และ ดร.นพัต จันทรวิสูตร จากภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (CEMB) ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีการพัฒนาชุดตรวจทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจาก RT-PCR ที่เป็นวิธีตรวจมาตรฐานสากลในการยืนยันการติดเชื้อโควิด – 19 (Gold Standard) และ Antigen Test Kit (ATK) สำหรับใช้ตรวจคัดกรองโควิด -19 ซึ่งเหมาะกับการใช้ตรวจทีละมาก ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ (Wearable) ตรวจจับ Biomarker, เทคโนโลยี RT-LAMP, เทคโนโลยี CRISPR-Cas เพื่อตรวจจับสารพันธุกรรมของเชื้อเป็นต้น
สำหรับเทคโนโลยีตรวจจับ Biomarker ที่เกี่ยวข้องกับโรค Covid-19 นั้น Mr. William Whittington ได้กล่าวในหัวข้อ Covid-19 Alternative Monitoring Technology ว่าเป็นเทคโนโลยีที่บริษัท Tiger Tech Solutions, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกานำมาต่อยอดเป็น COVID Plus Monitor ปลอกแขนฝังเซ็นเซอร์รับสัญญาณไบโอเมตริกซ์จากร่างกาย โดยตรวจจับความถี่การเต้นของหัวใจ ซึ่งมีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับว่ากว่า 90% ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด – 19 จะมีความถี่การเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้ที่ไม่รุกล้ำ และเป็นเทคโนโลยีเดียวที่ได้รับการรับรองจาก FDA ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว และยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือ มีความไวและความจำเพาะสูง (98.6% และ 94.5% ตามลำดับ) ใช้เวลาในการตรวจเพียง 3 – 5 นาที ไม่ต้องเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก ลดการสร้างขยะ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับองค์กรในภาพรวมด้วย
ด้านเทคโนโลยี RT-LAMP Technology ดร.อกนิษฐ์ วงศ์บุญมาก ได้เผยในหัวข้อ Alternative Innovation for Covid-19 mass screening ว่าเป็นเทคนิคที่บริษัทเลือกนำมาพัฒนาเป็นชุดตรวจแลมป์เปลี่ยนสี เนื่องจากมีจุดเด่นที่สามารถทำงานที่อุณหภูมิเดียว ไม่ต้องเปลี่ยนอุณหภูมิเป็นรอบ ๆ เหมือน RT-PCR และใช้เวลารอผลน้อยกว่า โดยใช้เวลาเพียง 30 นาที ทั้งยังมีความไวและความแม่นยำสูง อ่านผลได้ง่ายจากการเปลี่ยนสีด้วยตาเปล่า เครื่องมือที่ใช้มีราคาถูกกว่า RT-PCR ถึง 10 เท่า จึงสามารถใช้ตรวจคัดกรองจำนวนมาก ๆ ในหน่วยบริการสุขภาพที่ห่างไกล และขาดแคลนเครื่องมือทำ RT-PCR ได้ และสามารถบอกได้ด้วยว่าตัวอย่างที่ส่งมาตรวจนั้นมีคุณภาพหรือไม่ โดยเทคโนโลยี RT-LAMP เป็นเทคโนโลยีที่บริษัท Zenostic ซึ่งเป็น Startup ของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และสามารถขึ้นทะเบียน อย.เป็นรายแรก ๆ ของประเทศ และได้มีการนำไปใช้ในการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Screening) ในพื้นที่การระบาดประมาณ 30,000 เทส
ส่วนเทคโนโลยี CRISPR-Cas รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร และ ดร.นพัต จันทรวิสูตร ได้กล่าวถึงในหัวข้อ Alternative Innovation for Covid-19 screening by CRISPR-Cas Technology โดยอธิบายเกี่ยวกับเทคนิค DETECTR หนึ่งในเทคโนโลยี CRISPR-Cas ซึ่งใช้โปรตีน Cas 12 เป็นตัวช่วยตรวจหาสารพันธุกรรมเป้าหมายใน DNA เป้าหมายนำมาพัฒนาเป็นชุดตรวจ COVID-19 SCAN ที่สามารถอ่านผลจากสัญญาณ fluorescence หรือการเรืองแสงของตัวอย่าง ซึ่งมีข้อดีที่ใช้เวลารอผลน้อยและราคาถูกกว่า RT-PCR สามารถใช้ตรวจคัดกรองจำนวนมาก ๆ และขาดแคลนเครื่องมือทำ RT-PCR ได้เช่นกัน นอกจากนั้น ทีมยังได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พัฒนาอุปกรณ์ช่วยอ่านค่าการเรืองแสงของตัวอย่างเพิ่มความแม่นยำในการอ่านผลอีกด้วย
และในช่วงท้ายได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรวจโควิด – 19 ว่ายังคงมีความจำเป็น ในการใช้ชีวิตร่วมกับโรคหากเราสามารถตรวจคัดกรองได้บ่อยครั้งก็จะสามารถป้องกันและควบคุมโรคได้ แต่การตรวจ ATK ก็มีข้อจำกัด เช่น การเก็บตัวอย่างทางโพรงจมูกด้วยตัวเองส่วนมากมักจะเก็บไม่ลึกพอที่จะได้เซลล์เป้าหมาย ทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อนโดยเฉพาะผลลบลวง ในทางกลับกันหากเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกให้ได้เซลล์เป้าหมายบ่อย ๆ อาจจะทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ ขณะที่การเก็บตัวอย่างจากน้ำลายก็มีข้อควรปฏิบัติเพื่อเก็บตัวอย่างให้ได้คุณภาพเช่นกัน ซึ่งต้องให้ความรู้ในเรื่องนี้กับสังคมมากขึ้น นอกจากนั้น การมีชุดตรวจคัดกรองจากเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ซึ่งทาง อย. เองก็เผยว่าจะขยายขอบเขตการพิจารณาการรับรองชุดตรวจโควิด – 19 จากเทคโนโลยีอื่น ๆ นอกจาก ATK เช่น เทคโนโลยีตรวจคัดกรองโควิด – 19 จากกลิ่นเหงื่อ ลมหายใจ ชีพจร เพิ่มเติมในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ได้ทาง Facebook page CEMB และรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/CEMB.perdo/posts/681562489923743
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์
ดร.อกนิษฐ์ วงศ์บุญมาก
รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร
และ ดร.นพัต จันทรวิสูตร
ภาพข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565
จำนวนคนดู: 213