7 ธันวาคม 2565 ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พรชัย มาตังคสมบัติ จัดกิจกรรม Free public lectures ครบรอบ 2 ปี การก่อตั้งศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ พรชัย มาตังคสมบัติ “Pornchai Matangkasombut Center for Microbial Genomics (CENMIG)” เพื่อการควบคุมรักษาโรคติดเชื้อสำคัญ ณ อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาและนักวิจัยเข้าร่วมกว่า 67 คน
ในโอกาสอันดีนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วางรากฐานอันแข็งแกร่งให้แก่การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา และการวิจัยด้านจุลชีววิทยาของประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และแขกผู้มีเกียรติอีกมากมาย ร่วมพิธีเปิดและแสดงความยินดี โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งศูนย์ CENMIG กล่าวเปิดงาน
สำหรับการบรรยาย Free public lectures ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ บรรยายเรื่อง “The roles of Faculty of Science, Mahidol University in the Thai society” โดยกล่าวถึงบทบาทของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในสังคมไทยตั้งแต่ยุคการก่อตั้งที่ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีท่านแรกได้วางรากฐานการศึกษาและวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถได้ศึกษาในวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ จากสถาบันการศึกษาแนวหน้าในระดับนานาชาติ และนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบคทีเรียวิทยา และชีวสารสนเทศศาสตร์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “Microbial genomics in Thailand in the last 5 years” โดยเล่าถึงบทบาทของศูนย์วิจัย CENMIG ที่มุ่งเน้นการได้มาและจัดการข้อมูลเพื่อจำแนกและจัดหมวดหมู่เชื้อก่อโรคต่าง ๆ ศึกษาการวิวัฒนาการ ระบาดวิทยา ไปจนถึงการประยุกต์ใช้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจากการศึกษาเชื้อก่อโรคที่เกิดระบาดในพื้นที่ประเทศไทย และแบคทีเรียดื้อยาต่าง ๆ พบว่า เชื้อวัณโรค, ไข้เลือดออก, โควิด-19 (SARS-Cov-2) , Salmonella , E. coli เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวสารสนเทศศาสตร์ และไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “Genomics as research tools for microbiologists” โดยกล่าวถึงพัฒนาการการนำเอาเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาใช้ในการศึกษาวิจัยด้านจุลชีววิทยา ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นภาพกว้างมากยิ่งขึ้น โดยใช้เวลาที่น้อยลง ราคาถูกลง นำมาซึ่งองค์ความรู้ที่เสริมให้การสื่อสารในวงการวิทยาศาสตร์เข้มแข็งยิ่งขึ้น และสามารถนำไปสู่การวิจัยต่อยอดสร้างคุณประโยชน์ได้อีกมากมาย เช่น ศึกษาจีโนมทั้งหมดของเชื้อก่อโรค จนค้นพบตำแหน่งบนจีโนมที่ส่งผลต่อความสามารถของเชื้อ นำไปสู่การพัฒนายาและวัคซีน การศึกษาทางด้านระบาดวิทยา ดูการระบาดของโรคในพื้นที่และช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรค เปรียบเทียบสายพันธุ์ของเชื้อโรค ติดตามวิวัฒนาการของโรค เป็นต้น
ดร.วริษฐา แสวงดี ผู้แทนผู้อำนวยการกองการแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บรรยายเรื่อง “Applications of genomics technology in infectious diseases control – SARS-CoV-2 sequencing and monitoring” โดยเล่าถึงการใช้เทคโนโลยีจีโนมิกส์มาช่วยในการตรวจหาเชื้อโควิด – 19 ซึ่งนำไปสู่การควบคุมการระบาดของโรคในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด – 19 สายพันธุ์ดั้งเดิม ไปจนถึงการติดตามการกลายพันธุ์ในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อออกมาตรการรับมือการระบาดให้ทันท่วงที
รองศาสตราจารย์ พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายเรื่อง “Genomics as a tool for disease surveillance and discovery of novel pathogens” ซึ่งได้กล่าวถึงการค้นหาและเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ในอนาคตว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงต้องการวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ข้อมูลในปัจจุบันชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) จะเป็นตัวเร่งเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์มากขึ้น เพื่อค้นหาและเตรียมรับมือกับเชื้อก่อโรคที่เราไม่รู้จักในอนาคต องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้สร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันเก็บข้อมูล ติดตามและเฝ้าระวังจีโนมของเชื้อโรคทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นปัจจุบันเชื้อแบคทีเรียยังมีการดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้น จากสถิติพบว่าทวีปเอเชียมีอัตราการตายจากการดื้อยาของแบคทีเรียเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ยังมีการเก็บข้อมูลจีโนมของเชื้อโรคต่าง ๆ น้อยเมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ ทั้งนี้ การเก็บข้อมูลจีโนมของเชื้อโรคและแบ่งปันข้อมูล เป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาการเกิดขึ้นของเชื้อโรค การเปลี่ยนแปลงไป และการแพร่กระจายของโรคในอนาคต
นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยที่ศูนย์วิจัย CENMIG ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเกี่ยวกับการศึกษาเชื้อก่อโรคที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดต่าง ๆ และจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Entry-Level Genomics Workshop ในช่วงบ่ายต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 นี้ อีกด้วย
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล
ภาพข่าวโดย: นาย นภาศักดิ์ ผลพานิช,
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 7 ธันวาคม 2565
จำนวนคนดู: 158