25 สิงหาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบรางวัลโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ เวทีกลาง ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
พิธีมอบรางวัลได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ คุณนรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ รองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก บุญวงษ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้แทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ นพ .มล.ทยา กิติยากร อาจารย์สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะทำงาน กล่าวถึงโครงการในมุมมองต่าง ๆ และแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล
โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ จัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ เพื่อพัฒนาทักษะเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์ด้านการผลิตสื่อวิทยาศาสตร์ในรูปแบบการเขียนให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
โดยปีนี้นับเป็นการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ครั้งที่ 9 และเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดรับผลงานประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ความยาว 80 – 100 หน้า ซึ่งมีนักเขียนให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 80 ผลงาน โดยผู้ชนะในการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ประเภทนิยายวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567 ได้แก่
รางวัลชนะเลิศ
ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 70,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร
ผลงานเรื่อง โปรเจกต์พระมาลัย โดย รตี รติธรณ (นามปากกา)
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1
ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร
ผลงานเรื่อง นภามายา โดย ดอกเตอร์วอร์ม (Dr. Warm) (นามปากกา)
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2
ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศและเกียรติบัตร
ผลงานเรื่อง Memocurrency คู่มือรวยง่ายแค่ขายความทรงจำ โดย ณวัฒน์ (นามปากกา)
รางวัลชมเชย
ทุนส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน๑๐,๐๐๐ บาท และเกียรติบัตร
ผลงานเรื่อง สายสืบโลกเสมือน (Versecop) โดย สุภัทร จันทร์เจริญ
ผลงานเรื่อง ชีวิตตัวการันต์ โดย Redbox (นามปากกา)
ผลงานเรื่อง ADAMS & EVE โดย Tenebris Caelum (นามปากกา)
ผลงานเรื่อง ท้ารหัสพันธุกรรม Cloned Identity โดย Likita (ลิขิตา) (นามปากกา)
ผลงานเรื่อง อดาห์คุส โดย ศาตพจี รินสุวรรณ (นามปากกา)
โดยผลงานของ โปรเจกต์พระมาลัย ของผู้ชนะได้รับรางวัลชนะเลิศนั้นจะได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ ส่วนผลงานรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ 2 รวมถึงรางวัลชมเชยจะมีการเผยแพร่ในรูปแบบ e-book สู่สาธารณะต่อไป
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก บุญวงษ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา กล่าวถึงโครงการในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ว่า ขอขอบคุณผู้เข้าร่วมโครงการ นักเขียนผู้ส่งผลงาน ผู้เกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่การสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมมาอย่างยาวนาน ในมุมมองของผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เราปรารถนาให้ความรู้ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ได้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืนและมั่นคง โครงการนี้ช่วยให้วิทยาศาสตร์ได้ทำงานในบทบาทสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในสังคม คือการสร้างให้เกิดความรู้อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืนได้ และความบันเทิงอันทำให้สังคมเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นทั้งสาระและความบันเทิงไปพร้อม ๆ กัน ลดความห่างของวิทยาศาสตร์ในชีวิตลงได้ ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับความรู้ และผลของวิทยาศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ อันจะนำไปสู่การใช้ความรู้วิทยาศาสตร์กับเรื่องรอบตัวได้อย่างคุ้มค่า
โครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการพัฒนาผู้ผลิตสาระความบันเทิงด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นจริง โดยส่งเสริมให้เยาวชนไทยและผู้สนใจเกิดความตื่นตัวในเรื่องราวด้านวิทยาศาสตร์ และร่วมสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความสนใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่ผู้คนในสังคม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การสร้างคน และสร้างสังคมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตต่อไป
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 25 สิงหาคม 2567