24 เมษายน 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงาน Space Day of China 2025 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ในฐานะผู้เข้าร่วมภารกิจสำรวจอวกาศ Chang’e-7 และ Chang’e-8 และหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการส่งชุดการทดลองด้าน plant space biology ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
งาน Space Day of China เป็นงานที่จัดขึ้นโดยสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) เพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นของประเทศจีนต่อภารกิจการสำรวจอวกาศยุคใหม่ ซึ่งจัดในวันที่ 24 เมษายน ของทุกปี โดยในปี 2568 นี้ ตรงกับโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี วันอวกาศแห่งชาติจีน
ในโอกาสนี้กลุ่มวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ กลุ่มวิจัยฟิสิกส์อวกาศ นำโดย Professor Dr.David John Ruffolo อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany นำโดย อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ ได้รับเกียรติเข้าร่วมงานเพื่อนำเสนอก้าวสำคัญด้านวิทยาศาสตร์อวกาศในฐานะหน่วยงานแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้ส่งสิ่งมีชีวิตขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อการวิจัย รวมถึงความสำเร็จของการเข้าร่วมภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ (Chang’e) ในงานครั้งนี้ด้วย
กลุ่มวิจัยฟิสิกส์อวกาศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้ออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ Moon-Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) เพื่อติดตั้งไปกับยานอวกาศของประเทศจีนชื่อ Chang’e-7 ที่จะถูกส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ในช่วงปี 2569 โดย MATCH มีวัตถุประสงค์ที่จะวัดปริมาณของอนุภาคประจุบริเวณโดยรอบดวงจันทร์ นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ ทางกลุ่มวิจัยและ NARIT ได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมโครงการกับยานอวกาศ Chang’e-8 ของประเทศจีน เพื่อออกแบบเครื่องวัดชื่อว่า Assessing Lunar Ion-Generated Neutrons (ALIGN) ที่ถูกวางแผนให้สำรวจสภาวะกัมมันตรังสีบนพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยเฉพาะอนุภาคนิวตรอนที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างรังสีคอสมิกกับสสารบนดวงจันทร์ ผลที่ได้จากการทดลองเหล่านี้ นอกจากจะให้ข้อมูลใหม่เชิงวิทยาศาสตร์แล้วยังมีประโยชน์ด้านการเตือนภัยจากพายุสุริยะ ซึ่งเรียกว่า “สภาพอวกาศ” และการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของนักบินอวกาศที่จะไปสำรวจบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในอนาคตอันใกล้ด้วย
ห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astrobotany คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอความสำเร็จของการเข้าร่วมภารกิจ Shijian-19 (SJ-19) ในปี 2567 โดยกลุ่มวิจัยได้ส่งชุดการทดลองของประเทศไทยจากท่าอวกาศยาน Jiuquan ประเทศจีน เข้าสู่วงโคจรด้วยจรวดขับเคลื่อน CZ-2D (2) ในเดือนกันยายน 2567 และเดินทางกลับสู่พื้นโลกในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เป้าหมายของภารกิจคือการส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยที่ต้านทานต่อสภาวะแวดล้อมรุนแรงขึ้นไปทดสอบ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยที่มีแนวโน้มเหมาะสมกับการใช้งานภายใต้ระบบการเกษตรกรรมอวกาศ และเพื่อภารกิจการสำรวจอวกาศ ด้วยดาวเทียม SJ-19 ซึ่งเป็นดาวเทียมวิจัยที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ พัฒนาโดย China Academy of Space Technology (CAST) เพื่อใช้ในโครงการด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ (space science) ภารกิจ SJ-19 ได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Space Cooperation Organization: APSCO) และจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้แผนงานเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและบริการแห่งอนาคตรวมทั้งอุตสาหกรรมอวกาศ
มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ Real world impact และความยั่งยืนเพื่ออนาคต โดยกลุ่มวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ทั้ง 2 กลุ่ม ถือเป็นกำลังสำคัญในแผนงานด้านอวกาศ (space program) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากำลังคนและเตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศใหม่อย่างยั่งยืน ยกระดับอุตสาหกรรมรวมถึงธุรกิจของประเทศ และพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ก้าวหน้าสู่ยุคอนาคต
ข้อมูลโดย : กลุ่มวิจัยฟิสิกส์อวกาศ
และห้องปฏิบัติการ Plant biology & Astrobotany
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรียบเรียงโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : กลุ่มวิจัยฟิสิกส์อวกาศ
และห้องปฏิบัติการ Plant biology & Astrobotany
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 30 เมษายน 2568