18 มีนาคม 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี และทีมผู้บริหาร ร่วมพบปะประชาคมในกิจกรรม Meet the Dean EP.2 มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับฟังนโยบายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการบริหารจัดการองค์กรร่วมกับทีมผู้บริหาร ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยกิจกรรมในครั้งได้รับความสนใจจากบุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 300 คน
ภายในงาน รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาของทีมบริหารเพื่อนำองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย To be a World Class Faculty of Science with Social Impact ด้วยยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ วิจัยและนวัตกรรมคุณภาพสากล นวัตกรรมการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ที่แท้จริง บริการวิชาการเข้มแข็งและผลักดันงานวิชาการสู่ระดับนโยบาย องค์กรยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ ในปีที่ผ่านมา พร้อมร่วมกับรองคณบดีและผู้ช่วยคณบดีฝ่ายต่าง ๆ ตอบคำถามและแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ กับประชาคม โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ดำเนินรายการอย่างเป็นกันเอง
โดยการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในปีที่ผ่านมา ในยุทธศาสตร์ที่ 1 วิจัยและนวัตกรรมคุณภาพสากล คณะวิทยาศาสตร์ได้ส่งเสริมการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ และสร้างผลกระทบเชิงบวก ทำให้จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นจาก 441 ใน ปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 461 ผลงาน ในปี 2567 และคุณภาพของผลงานตีพิมพ์อยู่ในระดับ Q1 วารสารชั้นนำมากที่สุด โดยส่วนมากเป็นงานวิจัยจากกลุ่มวิจัยด้าน Infection and Immunology, Astronomy and Earth Science, Material Science, Agriculture and Foods และยังมีผลงานวิจัยที่สร้างประโยชน์ที่ใช้งานได้จริงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีคอสมิกที่ส่งไปกับดาวเทียมเพื่อศึกษาสภาพอวกาศ, การส่งเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยไปอวกาศเพื่อทดสอบการเจริญเติบโตของข้าวในสภาพแวดล้อมรุนแรงเพื่อเตรียมพร้อมการผลิตอาหารในอนาคต, นวัตกรรมหนังเทียมจากเส้นใยใบสับปะรดเหลือทิ้งเพื่อตรึงคาร์บอนและลดการใช้งานพลาสติกเพื่อความยั่งยืน, นวัตกรรมสเปรย์ลดอุณหภูมิด้วยการแผ่รังสีความร้อนและการพัฒนาวัสดุสีเขียว, การทำแผนที่เซลล์ร่างกายมนุษย์เพื่อทำความเข้าใจการทำงานของร่างกายและหาวิธีการใหม่ในการรักษาโรค, การศึกษาเชื้อดื้อยาและเชื้ออุบัติใหม่ซึ่งเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขระดับโลก, การค้นหาตัวยาใหม่จากสารสกัดสมุนไพรไทย และงานวิจัยอีกมากมาย นอกจากนั้นยังร่วมผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง Startup ภายในคณะวิทยาศาสตร์ และการจดสิทธิบัตรที่มีมูลค่าจากการวิจัยเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนในยุทธศาสตร์ที่ 2 นวัตกรรมการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ที่แท้จริง คณะวิทยาศาสตร์มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรนานาชาติ และมีการขยายความร่วมมือในการจัดการศึกษารวมถึงการทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ Queen Mary University of London จากสหราชอาณาจักร, York University จากแคนาดา, National Taiwan Normal University (NTNU) จากสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน), Xishuangbanna Tropical Botanical Garden of Chinese Academy of Science จากสาธารณรัฐจีน มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหวางนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติในย่านพญาไท จัดการเรียนการสอนในระดับปรีคลินิกให้กับศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก 3 ศูนย์ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์, โรงพยาบาลราชบุรี คณะแพทยศาสตร์ สถาบันบรมราชชนก สร้างหลักสูตรระดับปริญญาตรี ฟิสิกส์การแพทย์ (นานาชาติ) ร่วมกับสมาคมฟิสิกส์การแพทย์ไทย และพัฒนาระบบ Advanced Placement Test (AP) และ National License (NL) ทั้งยังส่งเสริมนักศึกษามีรายได้สูงและได้งานในบริษัทชั้นนำด้วยการจัดกิจกรรม Job Fair 2025 รวมถึงการก่อตั้งทุน Alpha เพื่อมอบโอกาสทางหารศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้ โดยตั้งเป้าจะระดมทุน ๆ ละ 1 ล้านบาท เป็นจำนวนถึง 100 ทุน
สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 บริการวิชาการเข้มแข็ง และผลักดันงานวิชาการสู่ระดับนโยบาย คณะวิทยาศาสตร์ได้หารือโอกาสในการสร้างความร่วมมือ และลงนาม MOU กับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย SCGC Centex Shrimp และมีส่วนร่วมในการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีเชิงลึกสร้างนวัตกรรมและค้นพบองค์ความรู้ใหม่ในโครงการระดับโลก เช่น โครงการ SPACE-F โครงการ LHAASO รวมถึงส่งเสริมในการทำงานวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน และยังเปิดกว้างโดยเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ที่มีการจัดประชุมวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการ การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสื่อสารองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับสังคม รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์กับเยาวชนอีกด้วย
และในยุทธศาสตร์ที่ 4 องค์กรยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ ที่ผ่านมาคณะวิทยาศาตร์ปรับปรุงและติดตั้งระบบเตือนภัยต่าง ๆ โดยระดมทุนจากกิจกรรมละครเวทีรอบการกุศล ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล และในอนาคตจะมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ รวมถึงสร้างรายได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยมีแผนจะปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อแสดงถึงความเป็น Lively Campus และก่อสร้างอาคารวิจัย-เทคโนโลยี และนวัตกรรมต้นแบบ เพื่อรองรับการพัฒนาของพื้นที่ย่านพญาไท และเตรียมพร้อมบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน ส่งเสริมการขอตำแหน่งที่สูงขึ้นให้กับบุคลากร โดยพัฒนาระบบติดตามการขอตำแหน่งบุคลากรสายวิชาการ (MUSC-AP Tracking System) รวมถึงดูแลด้านสวัสดิการ เช่น ประกันสุขภาพแบบกลุ่ม และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เช่น ส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในองค์กรโดยนำนโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy) มาดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสร้างความโปร่งใสในองค์กร ป้องกันไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งอาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ นอกจากนั้นยังมีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยในการปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับการดำเนินงานเชิงรุกมากขึ้น
กิจกรรม Meet the Dean EP.2 มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ได้เปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ได้รับฟังนโยบาย ทิศทางการพัฒนาองค์กร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยตรงกับทีมผู้บริหาร ส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายสู่ความเป็นคณะวิทยาศาสตร์ระดับโลก และยังได้เห็นถึงความคืบหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลักของคณะวิทยาศาสตร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาและแนวทางการพัฒนาในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนวิชาการของคณะต่อไป
เขียนข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนนท์นภัทร อินทร์สุพรรณ์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 18 มีนาคม 2568